SCG เผยวิกฤติพลังงาน ฉุดผลประกอบการปี 65 กำไรต่ำสุดในรอบ 15 ปี
เอสซีจี เผยผลประกอบการปี 2565 ยอดขายเพิ่ม แต่กำไรลดลง จากต้นทุนพลังงานสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง ชี้ปี 66 เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ มุ่งสินค้ากรีน ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก ด้าน LSP ในเวียดนามพร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าสู่ตลาดคาดช่วยสร้างรายได้ 10% จากยอดขายรวม
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ผลประกอบการเอสซีจีปี 2565 มีรายได้ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ส่วนกำไร 21,382 ล้านบาท ลดลง 55% จากเศรษฐกิจชะลอตัว ปิโตรเคมีขาลง ต้นทุนพลังงานสูง รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง
ส่วนไตรมาส 4 ปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 122,190 ล้านบาท ลดลง 14% จากราคาและปริมาณขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลง มีกำไร 157 ล้านบาท ลดลง 94% จากไตรมาสก่อน ทั้งนี้หากไม่รวมการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ รายการด้อยค่าสินทรัพย์ และรายการอื่นจะมีกำไร 1,070 ล้านบาท ลดลง 66% จากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่ากำไรในปี 2565 อยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 14-15 ปี แม้จะพยายามรักษาต้นทุน แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจาก วิกฤติซ้อนวิกฤติ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทผันผวน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
โดยเอสซีจีได้ปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจโดยรวม มุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้มั่นคง ลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต พิจารณาการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ส่งผลให้เงินสดคงเหลืออยู่ที่ 95,000 ล้านบาท
สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ส่วนตลาดอาเซียนปรับตัวขึ้นตามการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังจากช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เอสซีจีเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ และตอบความต้องการใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยปีนี้เตรียมงบลงทุนราว 40,000 - 50,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าครึ่งคาดว่าจะใช้ในการลงทุนที่ บริษัท ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (Long Son Petrochemicals Company Limited - LSP) โครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม คืบหน้ากว่าร้อยละ 98 พร้อมเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดกลางปีนี้ และคาดว่าจะสามารถเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต โดยคาดว่าจะมีรายได้จาก LSP ราว 10%
สำหรับในปี 2566 เอสซีจีได้มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจโดยเฉพาะความต้องการสินค้ากรีน ซึ่งเป็นทิศทางสำคัญของโลกและมีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มพลังงานสะอาด พลาสติกรักษ์โลก โซลูชันประหยัดพลังงาน บรรจุภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร โดยในปี 2565 ยอดขาย SCG Green Choice เติบโตโดดเด่น 34% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือมียอดขายรวม 51% ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีพร้อมเร่งเดินหน้าเต็มที่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า จากวิกฤติต้นทุนพลังงานเอสซีจีจึงรุกธุรกิจพลังงานสะอาด โดยมีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ ในปี 65 เพิ่มขึ้น 78% จากปีก่อน ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล โดยปี 65 เอสซีจีเพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็น 34% จาก 26% ในปีก่อน และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ในปีก่อน ขณะเดียวกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) ปี 2565 อยู่ที่ 195,520 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) คิดเป็น 17% และ Service Solutions คิดเป็น 6% ของยอดขายรวม
รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยในปี 2565 ทั้งสิ้น 257,880 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของยอดขายรวม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีมูลค่า 906,490 ล้านบาท โดย 45% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 8.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 6.0 บาท เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 2.0 บาท