“วัน แบงค็อก” (One Bangkok) ตอกย้ำวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนกรุงเทพ (Evolving Bangkok) ร่วมขับเคลื่อนเมืองผ่านความคิดสร้างสรรค์ ผ่านนิทรรศการ “Seatscape & Beyond Open Studio” ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (Bangkok Design Week 2023) โดยเป็นผลงานออกแบบของผู้ชนะทั้ง 10 ทีมของโครงการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” ซึ่งที่นั่งสาธารณะทั้ง 10 แบบ จะถูกผลิต ติดตั้ง และใช้งานจริงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโครงการ วัน แบงค็อก

คุณวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก (คนที่ 2 จากซ้าย) กล่าวว่า วัน แบงค็อก ให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาเมืองยั่งยืน และสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างเป็นมิตรด้วยงานศิลปะ ผลักดันงานศิลปะให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์แก่เมืองและชุมชน โดยพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ไร่ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งวัน แบงค็อก ได้ออกแบบให้เป็นจุดพักผ่อนใจกลางเมืองและเป็นพื้นที่สันทนาการของเมือง พร้อมมอบประสบการณ์แห่งศิลปะและวัฒนธรรม (Art & Culture) ผ่านผลงานศิลปะสาธารณะ ในพื้นที่สาธารณะทั่วโครงการ สะท้อนอัตลักษณ์และเรื่องราวของพื้นที่ และด้านเศรษฐกิจ การมีส่วนในการพัฒนาศิลปิน พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

คุณจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมโครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า การออกแบบเมืองที่ดีควรเอื้อต่อวิถีชีวิตคุณภาพและการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความหลากหลายผสมผสานทั้งที่อยู่อาศัย, แหล่งท่องเที่ยว, พื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อน โดยโครงการ วัน แบงค็อก ก็เป็นเหมือนอีกเมืองหนึ่งที่มีการผสมผสานรวมพื้นที่ต่างๆ ไว้ในโครงการเดียว พร้อมเปิดพื้นที่สาธารณะผ่านพื้นที่สีเขียวกว่า 50 ไร่ ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่สีเขียวจากพันธุ์ไม้ไทยกว่า 29 สายพันธุ์, เส้นทางศิลปะกว่า 2 กม. โดยได้ออกแบบให้พื้นที่ในอาคารเชื่อมต่อกันได้ผ่านการเดิน สร้างมาตรฐานความปลอดภัยดี เปิดรับเทคโนโลยี และเต็มไปด้วยเส้นทางศิลปะ-วัฒนธรรม โดยภายในโครงการจะมีการนำอาคารสถานีโทรเลขศาลาแดงเข้ามาสร้างในโครงการด้วย เพื่อบอกเล่าประวัติของพื้นที่ในอดีตผสมผสานกัวความร่วมสมัยใหม่ โดยอาคารแห่งนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมให้ศิลปิน-นักออกแบบ เข้ามาใช้พื้นที่ได้ พร้อมมีพื้นที่ศิลปะทดลองและคอลเลกชั่นศิลปะสาธารณะเพื่อสร้างสีสันของเมืองในทุกวัน

สำหรับแนวคิดการพัฒนาเมืองที่มีคุณภาพด้วยพื้นที่สาธารณะ (public realm) และกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมของโครงการ วัน แบงค็อก ในกิจกรรมเสวนา Public Realm | Public Art | Public Culture ว่า “การออกแบบเมืองที่ดีควรเอื้อต่อวิถีชีวิตคุณภาพและการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีผ่านโปรแกรมทางศิลปะและวัฒนธรรมของโครงการฯ สร้างสีสันให้กับชีวิตในทุกวันด้วยศิลปะและวัฒนธรรม (Colour the Everyday with Art & Culture) 

โดย วัน แบงค็อก ร่วมกับ THINKK Studio จัดนิทรรศการ “Seatscape & Beyond Open Studio” นำเสนอคอลเลคชั่นที่นั่งสาธารณะผลงานการออกแบบของผู้ชนะทั้ง 10 ทีมของโครงการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสต้นแบบและเบื้องหลังการพัฒนาผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของทีมผู้ชนะทั้งหมด ได้มีโอกาสเวิร์คช็อปเรียนรู้เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญ รับคำปรึกษา และพัฒนาผลงานร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ที่ผ่านมา จนกระทั่งผลงานออกแบบได้ถูกผลิต ติดตั้ง และใช้งานจริงภายในพื้นที่สาธารณะของโครงการ วัน แบงค็อก เป็นการบ่มเพาะทักษะและเทคนิคต่าง ๆ ในการผลิต เพื่อสร้างเป็นพอร์ตโฟลิโออันโดดเด่น เป็นบันไดปูเส้นทางไปสู่การเป็นนักออกแบบมืออาชีพประดับวงการออกแบบต่อไป 

ล่าสุดได้มีการประกาศผลรางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม 3 รางวัลพิเศษจาก 10 ทีมดังกล่าว สร้างความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้มีประสบการณ์การทำงานกับโครงการระดับโลกอย่าง “วัน แบงค็อก” ทั้งนี้ในทุก 2-3 ปี “วัน แบงค็อก” มีแผนจัดโครงการประกวดพัฒนาผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งก็จะมีโจทย์ที่แตกต่างกันออกไป โดย “วัน แบงค็อก” พร้อมสนับสนุนให้เกิดความจริงในอนาคต

 

“วัน แบงค็อก คาดหวังอยากให้คนเข้ามาใช้พื้นที่ในโครงการ จึงเป็นที่มาของงานพัฒนาผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในครั้งนี้ ซึ่ง “เก้าอี้” เป็นสิ่งสำคัญที่จะเอื้อให้ผู้เข้ามาในโครงการได้สามารถใช้งานเก้าอี้นั่งพัก ซึ่งจะดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ได้นานขึ้น ซึ่งหลังจากนี้เราจะนำทั้ง 10 ผลงานไปผลิต และติดตั้งในพื้นที่สาธารณะของโครงการวัน แบงค็อก ซึ่งจะเป็นคอลเลกชั่นแรกพร้อมการเปิดตัวโครงการในต้นปี 2567” คุณจรินทร์ทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย

คุณพลอยพรรณ ธีรชัย และ คุณเดชา อรรจนานันท์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง THINKK Studio ที่ปรึกษาของโครงการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond”  กล่าวว่า ทีมผู้ชนะทั้ง 10 ทีม เป็นคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างเปิดกว้างทางความคิด มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ในการนำเครื่องมือ เทคโนโลยีใหม่ๆ และแสวงหากลไกวิธีคิดที่บางครั้งคาดไม่ถึงเข้ามาช่วยในการพัฒนาแนวคิดในการออกแบบและกระบวนการคิดในการทำงาน รวมถึงกล้าที่จะใช้วัสดุแปลกใหม่เข้ามาใช้เป็นองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์

“ในขั้นตอนของการเวิร์คช็อปเราจึงมุ่งให้ความรู้ค่อนข้างละเอียดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ชนะทั้ง 10 ทีม เข้าใจระบบและสามารถวางแผนการทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่การใช้วัสดุ คุณสมบัติหรือขนาดมาตรฐานของวัสดุ กระบวนการผลิต เรียนรู้ว่าข้อจำกัดของการทำงาน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้จริง โดยยังคงเก็บข้อดีของคอนเซ็ปต์งานออกแบบที่อยู่ในจินตนาการเอาไว้ได้”

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมร่วมเปิดโลกแห่งจินตนาการในการออกแบบรังสรรค์ที่นั่งสาธารณะ ที่จะนำมาผลิต ติดตั้ง และใช้งานจริงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโครงการ วัน แบงค็อก ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จัดแสดงระหว่างวันนี้ไปจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถติดตามกิจกรรมของ วัน แบงค็อก ได้ที่บริเวณลานหน้าไปรษณีย์กลาง บางรัก

 

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม 3 รางวัลพิเศษ ดังนี้

อันดับ 1 -  ทีม แด่เพื่อนที่ (ไม่) รู้จัก

Sit to Gather

Designer: กฤตธี วงศ์มณีโรจน์ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) / วิภพ มโนปัญจสิริ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

Material & Production: ไฟเบอร์กลาส

ด้วยแนวคิดในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนและพื้นที่เข้าด้วยกันผ่านเก้าอี้นั่งที่มีระดับ ความแตกต่างของความใกล้ชิด ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการนั่งที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการ นั่งรอ พูดคุย ไปจนถึงการนั่งรวมตัวของคนกลุ่มใหญ่ในการทํากิจกรรมต่างๆ เพื่อเติมเต็ม ความหมายให้กับพื้นที่ภายในโครงการ

การพัฒนาหน้าตาการออกแบบเพื่อเพิ่มบทบาทของเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารและ พื้นที่ภายนอกได้กลายมาเป็นรูปแบบของเก้าอี้ 3 ชิ้น ที่นําองค์ประกอบพื้นฐานอย่าง จุด เส้น และระนาบ มาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเมื่อเผชิญข้อจํากัดทางพื้นที่ โดยยังคงรองรับกับอิริยาบถการนั่งในทุกรูปแบบ

 

อันดับ 2 – ทีม B3X

Sit to Transfer

Designer: พันธ์วิรา เงาประเสริฐ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) / ทัดตะวัน ทัศน์กระแส (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รัตนาภรณ์ เลิศวิบูลย์กิจ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

Material & Production: โครงสร้างอะลูมิเนียม ปิดผิวด้วยไฟเบอร์กลาส

เฟอร์นิเจอร์สาธารณะบริเวณจุดรับส่งผู้โดยสารรถสาธารณะของโครงการที่รองรับลักษณะการใช้งานแบบกึ่งนั่งกึ่งยืน ออกแบบให้เป็นประติมากรรมที่มีลวดลายและสีสันสดใส ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใช้งานภายในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า

หน้าตาของผลงานได้รับการพัฒนาผ่านการระดมความคิดของกลุ่มวัยรุ่น ด้วยการเก็บข้อมูลผ่านฟีเจอร์สตอรี่ในอินสตาแกรม เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ และนํามาต่อยอดเป็นลวดลายของผลงาน 3 รูปแบบ ได้แก่ อิสระ ค้นหา และน่าตื่นเต้น ขยายให้เห็นมิติที่กว้างขึ้นของวัยรุ่นในปัจจุบันผ่านผลงานเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้

 

อันดับ 3 – Ribbon Flow

Sit to Gather

Designer: ฐิฌาพร โลหุตางกูร (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) / ณรงค์ฤทธิ์ รักไทย (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) / ณัฐวัฒน์ ปานนิยม (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี)

Material & Production: เหล็กท่อกลม ปิดพื้นผิวด้วยสแตนเลส

เฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่มีเป้าหมายในการเป็นแลนด์มาร์คให้กับพื้นที่ของโครงการ เชิญชวน ผู้คนให้เข้ามานั่งพบปะ รวมตัว และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยใช้รูปทรงของริบบิ้น เป็นสัญลักษณ์ในการเชื่อมโยงและให้ความหมายที่มากกว่าความงาม และยังใช้สีส้มเพื่อสื่อสารถึงความเบิกบาน ความใส่ใจ และมิตรภาพ

รูปทรงของริบบิ้นนำมาใช้เป็นจุดตั้งต้นในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยมีการพัฒนาต้นแบบหลายสิบครั้งเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการบิดโค้งพลิ้วไปมาให้สวยงาม ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่เมื่อปรับเข้ากับวัสดุที่เป็นแผ่นเหล็ก พร้อมกับออกแบบระยะเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งสองฝั่งเข้าหากันโดยไม่กีดขวางเส้นทางสัญจร