"ท่องเที่ยว" ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังจากโควิดอาจไม่ง่ายนัก แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้น และเป็นกลไกหลักของเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้ ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยราว 11.2 ล้านคน ขณะที่ปี 2566 คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 29.7 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องที่ยวจีน ที่ตอนนี้ทยอยกลับมาเที่ยวไทย

จากการวิเคราะห์ของ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยให้เห็นว่า โครงสร้างนักท่องเที่ยวในปี 2565 ที่เปลี่ยนไปที่ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนทำให้รายได้การท่องเที่ยวต่อหัวลดลง ชี้ว่าหากสถานการณ์ไม่แน่นอนเกิดขึ้นแบบนี้อีกในอนาคตหากไทยยังพึ่งพาภาคท่องเที่ยวมากเกินไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการท่องเที่ยวอาจไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยไปได้ ปัญหาเชิงโครงการสร้างจึงเป็นความท้าทายในการเติบโตระยะยาว และไทยจะต้องเร่งหาเครื่องยนต์ใหม่ตัวไหนมาพยุงให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้

เพราะที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวไทยเน้นปริมาณมากกว่ามูลค่าเพิ่ม  เห็นจากข้อมูลพบว่ารายได้จากภาคท่องเที่ยวไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 10-15%  แต่ 80 – 90% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีเกิดจากการเพิ่ม “จำนวนนักท่องเที่ยว” ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่เพิ่มขึ้นและปรับลดลงในช่วงปีที่เกิดโควิด ซึ่งการเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้รายได้ของการท่องเที่ยวที่มีกว่า 2 ล้านล้านบาทในแต่ละปี ยังกระจุกตัวอยู่ตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลักๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี แค่เพียง 4 จังหวัด กลับมีรายได้รวมกันมากกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่การใช้ทรัพยากรก็ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวมากเกินไป ทำให้เมืองท่องเที่ยว มีปัญหาด้านขยะ น้ำเสีย และที่สำคัญทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยวและปล่อยขยะและของเสียลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกนำมาคิดในภาพความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทย และถ้าปล่อยให้สภาพแวดล้อมถูกทำลายต่อไป สุดท้ายการท่องเที่ยวไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้

แล้วจะทำอย่างไรให้ท่องเที่ยวไทยเดินหน้าต่อไปได้ ประเด็นสำคัญที่ต้องรวมการพัฒนา เชื่อมโยงกับโอกาสการเติบโตของธุรกิจรายย่อย ให้เกิดการจ้างงานสูง และเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ ซึ่งพบว่า แนวทางสำคัญที่จะช่วยต่อยอดการท่องเที่ยวจากปัจจุบันได้ภาคการท่องเที่ยวไทยจะต้องเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพในภาคการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาทักษะแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล รวมถึงการต่อห่วงโซ่อุปทาน ให้ท่องเที่ยวเชื่อมต่อกับภาคเศรษฐกิจอื่นให้มากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ภาคการเกษตร ธุรกิจโอทอป หรือสินค้าชุมชนต่างๆ

แน่นอนว่าการท่องเที่ยวจะไปได้ดี เม็ดเงินต้องกระจายตัวลงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้นภาครัฐฯ เอกชน จะต้องร่วมมือกันสร้างแรงดึงดูดให้การท่องเที่ยวให้กระจายออกจากเมืองหลักมากขึ้น ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม เอื้อให้การเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ง่ายและสะดวกมากขึ้น 

ทางด้านสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล การมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน การสร้างความตระหนักรู้ให้กับทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว มีมาตรฐานกฎเกณฑ์รวมถึงการสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนรวมในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากร

แน่นอนว่าการพัฒนากลยุทธ์ใหม่ในภาคการท่องเที่ยวนั้น จะช่วยเพิ่มทั้งมูลค่าและความยั่งยืนในการเติบโตระยะยาว หากไทยสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว พร้อมกับเชื่อมโยงการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้  ซึ่งถ้าพัฒนาการท่องเที่ยวตามทิศทางใหม่ได้ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตได้อีกกว่า 4.6% ของ GDP หรือคิดเทียบเท่าจำนวนนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าด้วย

เป้าหมายความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยวไทย ควรจะเน้นสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและสมดุลและลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นกับคนในประเทศให้ได้มากที่สุด จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้