CIVIL เปิดแผนปี 66 ปักธงรายได้โต 20% จับมือพันธมิตร เพิ่มโอกาสรับงาน-ขยายธุรกิจใหม่
CIVIL เผยทิศทางธุรกิจปี 66 ตั้งเป้ารายได้โต 20% ชูกลยุทธ์มุ่งเน้นเข้ารับงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน ขยายฐานลูกค้ากลุ่มการก่อสร้างประเภทพลังงานทดแทน เตรียมหนุน Backlog แตะ 20,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง เทคโนโลยีทันสมัย ควบคุมต้นทุน เล็งจับมือพันธมิตรเสริมแกร่ง แก้ไขปัญหาแรงงาน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานปี 2566 ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตอย่างมีศักยภาพทั้งในส่วนของรายได้ และความสามารถในการทำกำไร โดยวางเป้าหมายรายได้เติบโต 20% หรือ 6,000-8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้แผนการดำเนินงานของบริษัท มุ่งเน้นสร้างการเติบโตจาก 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และ 2. การเข้าลงทุนกับพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้าง เทคโนโลยีและนวัตกรรมงานก่อสร้าง
ในส่วนของธุรกิจหลักมุ่งเน้นการเข้าประมูลและรับงานโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นงานหลักของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ ถนน, สนามบิน ขณะที่งานภาคเอกชนมีแผนขยายกลุ่มลูกค้าโครงการก่อสร้างประเภทพลังงานงานทดแทน เพื่อตอกย้ำความชัดเจนที่ปรับตัวเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างคุณภาพ และ ช่วงเสริมสร้างความแข็งแกร่ง รวมถึงการเป็นคู่ค้าที่ดีกับลูกค้าเอกชน โดยเน้นการส่งมอบงานที่รวดเร็ว และ เข้ารับงานใหม่ที่สะท้อนราคาต้นทุนใหม่และอัพเดต คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้แตะที่ระดับ 20,000 ล้านบาท
นอกจากนี้จะพัฒนางานก่อสร้างให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ส่งมอบงานได้เร็วตามกรอบเวลา เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ต่อเนื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมบริหารจัดการต้นทุนก่อสร้างท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการ และ ราคาวัสดุก่อสร้างที่ผันผวน
ส่วนแผนการเข้าลงทุนกับพันธมิตรใหม่ทางธุรกิจ มีแผนความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้ารับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีหลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการมองหาโอกาสขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้นวัตกรรมก่อสร้างเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการสร้างการเติบโตอย่างมีศักยภาพร่วมกันในอนาคต คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจจากการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานและโครงการก่อสร้างอื่นๆ ของภาครัฐ เพื่อรองรับการขยายตัวทั่วประเทศ อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตขึ้น จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการก่อสร้างเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC)
“แม้ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องพบกับปัจจัยลบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการเมืองที่มีความผันผวน แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจยังคงมีการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ ส่งผลให้บริษัทสามารถเข้ารับงานก่อสร้างได้ต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งในการดำเนินงานก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพและมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง คาดว่าในปีนี้ทิศทางอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงต้นปี ถือเป็นโอกาสของบริษัทที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้ได้อย่างแน่นอน” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานก่อสร้างแบ่งเป็น งานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูง 45%, งานก่อสร้างทางหลวง ทางต่างระดับ และทางพิเศษ 39%, งานก่อสร้างฟลัดเวย์ 12% งานก่อสร้างท่าอากาศยาน 1%, งานก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 1% และ งานประเภทอื่นๆ 2%