“โปรตีนทางเลือก” ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่คนรักสุขภาพให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของสุขภาพ ทำให้สามารถลดหรือเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการพัฒนาคิดค้นอาหารทางเลือก เพื่อมาทดแทนกระบวนการผลิตอาหารแบบดั้งเดิม ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิม มีการปล่อยมีเทนเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ 650 ล้านคัน หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 15% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก

รายงานของ Globe newswire ระบุว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกของยุโรปช่วงปี 2566-2571 ความนิยมมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนใจโปรตีนทางเลือก ซึ่งในปี 2564 มีมูลค่ามากถึง 1,906.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2566-2571 จะขยายตัวเฉลี่ยถึง 20.2% ต่อปี ซึ่งตลาดโปรตีนทางเลือกในยุโรปจะมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการบริโภคโปรตีนทางเลือกทั่วโลกภายในปี 2578 โดยได้แรงหนุนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและกำลังซื้อที่ขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับสุขภาพ


 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กล่าวว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกในยุโรปพัฒนาอย่างมาก เพราะรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเร่งการผลิตโปรตีนทางเลือกให้มีความพอเพียง เช่นในประเทศเดนมาร์ก ที่มีนโยบายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ ให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชของโลก ทำให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช และจัดตั้งกองทุน “The Plant Fund” เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ส่วนในประเทศไทยตลาดโปรตีนทางเลือก ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาผลิตและแปรรูปเป็นโปรตีนทางเลือก อาทิ พืช เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ขนุนอ่อน ไข่ผำ และแมลง เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนไหม ในปี 2564 โดยการบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ของไทย มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของตลาดรวมมูลคีราว 3.62 หมื่นล้านบาท และมูลค่าตลาดนี้มีโอกาสเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ไปสู่ 5,670 ล้านบาทได้ภายในปี 2567 

แน่นอนว่าโปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง เป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ทั้งฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่ความต้องการบริโภคสินค้าโปรตีนทางเลือกยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก จึงเป็นโอกาสของการส่งออกของไทยต่อไปในอนาคต