EPG แถลงแผนธุรกิจปีบัญชี 66/67 ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10% ปัจจัยสนุนจากผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งพร้อมเก็บเกี่ยวผลกำไร เตรียมเทิร์นอะราวด์ธุรกิจในออสเตรเลีย
ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความผันผวน ความไม่แน่นอน และ สลับซับซ้อน แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางเติบโตดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้ง ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาตร์ อัตราเงินเฟ้อ และราคาพลังงาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
การทำธุรกิจในตลาดโลกของ EPG จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปีบัญชี 66/67 (เม.ย.66 – มี.ค.67) บริษัทมุ่งเน้นการดำเนินงาน ดังนี้
1) สร้างการเติบโตแบบ Organic Growth: ด้วยสินค้าประเภทเดิมและสินค้านวัตกรรมที่ออกใหม่ของทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานสำคัญต่างๆ จึงทำให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมช่วยสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ อีกทั้งค้นหาขุมทรัพย์ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ วิธีการลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
2) มุ่งมั่นทำการวิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรม New S-Curve เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลัก และเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ในอนาคต
3) Synergy ธุรกิจในออสเตรเลียเพื่อ Turn around
4) ตั้งเป้าหมายระยะยาว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ "net zero" ภายในปีพ.ศ. 2585
โดยปีบัญชีที่ผ่านมาบริษัทย่อยดำเนินการติดตั้ง Solar Roof top ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ประมาณ 18 MW เสร็จสิ้นแล้ว และในปีบัญชีนี้บริษัทได้วางแผนการผลิตเพื่อรองรับการใช้ พลังงานจาก Solar ให้คุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปีบัญชี 66/67 (เม.ย.66 – มี.ค.67) EPG ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10% อัตรากำไรขั้นต้นที่ 30 - 33% มาจากการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8 - 10% มาจากสินค้าเกรดพรีเมี่ยม และสินค้ารุ่นใหม่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม Ultra LowTemperature Insulation และ ระบบ Air Ducting system ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในสหรัฐอเมริกา และมุ่งเน้นทำการตลาดในประเทศ และญี่ปุ่น
ฉนวน Aeroflex ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้การรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ Aeroflex อยู่ระหว่างพิจารณาให้ใบอนุญาต (License) เพื่อจัดจำหน่ายฉนวน Aeroflex บางรุ่นในทวีปยุโรป อีกทั้ง เตรียมส่งฉนวนAeroflex ทดสอบเพื่อขอรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยขั้นสูงสุดของวัสดุกันไฟในยุโรปเพิ่มเติม พร้อมตั้งเป้าหมายระยะยาวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ "Net Zero" ภายในปีพ.ศ. 2585
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 8 - 10% มาจากการพัฒนาสินค้านวัตกรรมร่วมกับลูกค้ากลุ่ม OEM ค่ายยานยนต์ของยุโรป เอเชีย และ สหรัฐอเมริกา ได้ทยอยออกสู่ตลาดแล้ว และด้วยความเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากโพลีเมอร์และพลาสติกเพื่อให้มีน้ำหนักเบา มีความทนทาน และได้มาตรฐานความปลอดภัย Aeroklas จึงมีโครงการเพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมสำหรับยานยนต์ทั้ง ICE และ EV ร่วมกับค่ายยานยนต์เพื่อสร้างสินค้า New S-Curve อย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียภายใต้ Aeroklas Asia Pacific Group (AAPG) ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเสริมการทำงานร่วมกันของธุรกิจและทุกแบรนด์ในออสเตรเลีย โดยใช้ศักยภาพที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว มาเพิ่มยอดขาย พร้อมกับควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อเทิร์นอะราวด์ธุรกิจในออสเตรเลียอย่างเร็วที่สุด
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 10 – 12% โดยเร่งให้เกิดอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ EPP ได้ส่งบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เช่น กล่องอาหารรุ่น TF เพื่อทดแทนกล่องโฟม อีกทั้ง ตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดให้ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร เป็นสินค้าควบคุมต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มอก. 655 ซึ่งเป็นมาตรฐานของภาชนะและเครื่องใช้พลาสติก และ มอก. 2493 สำหรับภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 3 มกราคม 2566 นั้น EPP ได้รับใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้ EPP ปรับกลยุทธ์การตลาดด้วยการขายสินค้าแบบไขว้ (Cross selling) ทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกระดับพรีเมียมและผลิตภัณฑ์ทั่วไปเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับการดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัท อีพีจี อินโนเวชัน เซ็นเตอร์ จำกัด ไม่เพียงแต่สนับสนุนธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจ ด้วยการสร้างสินค้านวัตกรรม New S-Curve แต่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้านวัตกรรมสำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่ในอนาคต ดร.ภวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปีบัญชี 66/67 (เม.ย.66 – มี.ค.67) รวม 450 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มเครื่องจักรสำหรับผลิตสินค้าใหม่ รวมถึงใช้ปรับปรุงไลน์การผลิต อีกทั้ง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66 มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 พิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่บริษัทมีวงเงินในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินที่บริษัทสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต