จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว  และ โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา ที่มีการใช้ทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2566) นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท โนเบิล  ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ นายธีรพล วรนิธิพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจ  ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงโดยยืนยันว่า บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว  และ โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 1-2 ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ (รายละเอียดแนบ) โดยโครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว เจ้าของที่เดิมได้มีการจ่ายค่าใช้ประโยชน์ใช้ทางตามข้อกำหนดให้กับทาง รฟม. เป็นที่เรียบร้อย ส่วนโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 1-2 ทาง รฟม. ไม่ได้คิดค่าตอบแทน เนื่องจากที่ดินของ รฟม. ไม่ติดกับทางสาธารณะ โดยมีที่ดินของเจ้าของเดิมเป็นชายธงติดกับถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเจ้าของเดิมก็อนุญาตให้ใช้เป็นที่ดินภาระจำยอม ทำให้ลูกบ้าน และลูกค้ามั่นใจได้ว่าคอนโดฯทั้ง 3 โครงการของบริษัทฯ จะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้น

โดยปัจจุบัน โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา ได้ขายหมดแล้ว 100% ส่วนโครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว มีการขายแล้วราว 80% หรือคิดป็นมูลค่าราว 1,600 ล้านบาท ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้น บริษัทก็ได้มีการตั้งทีมเพื่อชี้แจงข้อมูลทำความเข้าใจกับลูกบ้านทั้ง 3 โครงการ โดยเบื้องต้นมีลูกบ้านราว 30 คนที่กังวลและได้มีการติดต่อมาเพื่อรับฟังข้อมูลซึ่งส่วนใหญ่ก็เข้าใจในหลักการ และเชื่อมั่นในการดำเนินงานของบริษัทฯ

ทั้งนี้จากกรณีที่เกิดขึ้นกับ “แอชตัน อโศก” ถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องกลับมาดูข้อกฎหมายอย่างจริงจัง ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่หลังจากนี้ โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ใกล้แนวเวนคืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ภาครัฐจะต้องกลับมาแก้ไขในกรณีที่กฎหมายยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน ให้กลับมามีความชัดเจนว่าสามารถอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างไรบ้าง ซึ่งกรณีของแอชตัน ก็ต้องกลับมาดูเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะสามารถช่วยเหลือลูกบ้านได้อย่างไรบ้าง

ด้านความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์นี้อาจกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุนอสังหาฯในไทย เพราะโครงการ แอชตัน อโศก ก็มีการร่วมทุนกับญี่ปุ่น ดังนั้นในช่วงนี้ภาครัฐควรรีบออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบกับลูกค้าคนไทย ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับ โนเบิล ในช่วงครึ่งแรกของปี 66 เปิดตัวโครงการใหม่ไปแล้ว 2 โครงการ มูลค่า 3,800 ล้านบาท ส่วนครึ่งหลัง เตรียมเปิดอีก 7 โครงการ มูลค่ากว่า 18,300 ล้านบาท โดยมีโครงการ ดิ เอ็มบาสซี่ แอท ไวร์เลส เป็นโครงการเรือธง ด้วยมูลค่าโครงการกว่าหมื่นล้านบาท  โดยปัจจุบันที่ดินรอการพัฒนาของบริษัทฯ เป็นที่ดินแปลงปกติ ไม่มีการถูกเวนคืน แต่ทั้งนี้อนาคตก็ต้องรอดูอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าบริษัทฯจะดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกระบวนการให้สอดคล้องกับกฎหมายต่อไป

..............

(รายละเอียดชี้แจง) 

โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออกจากถนนรัชดาภิเษก [ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)] โดยที่ดินเดิมของโครงการฯ มีทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ แต่ถูกเวนคืนโดย รฟม. ส่งผลให้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งโครงการฯ ไม่มีทางเข้า-ออก ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงชอบที่จะอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรดังกล่าว เป็นทางเข้า-ออกของโครงการฯ ได้ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์ของการเวนคืนเดิมเสียไปและ รฟม. ยังคงใช้ที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามปกติ โดยอาคารจอดรถของ รฟม. ดังกล่าวได้เปิดใช้งานแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน กรณีนี้จึงเห็นได้ชัดว่า รูปแบบการใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด ทางเข้า - ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว

โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออก จากถนนรัชดาภิเษก ซอย 6 โดยที่ดินเดิมของโครงการฯ ได้ถูกเวนคืนโดย รฟม. บางส่วน เพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรม อาคารจอดรถแล้วจร และลานจอดรถเพิ่มเติม ส่งผลให้ที่ดินโครงการฯ ไม่มีทางเข้าออก ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงชอบที่จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินบางส่วน เพื่อวัตถุประสงค์ในการผ่านเข้า-ออกของโครงการฯ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีเงื่อนระยะเวลา ซึ่งการที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด เพราะแต่เดิม รฟม. ก็ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้า-ออกของลานจอดรถอยู่แล้ว จึงสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้นำที่ดินอีกส่วนหนึ่งของบริษัทฯ จดทะเบียนเป็นภาระจำยอม เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก ร่วมกันของโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ด้วย ดังนั้น ทางเข้า - ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว

บริษัทฯ ขอให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า และยืนยันว่า โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ