พลัส พร็อพเพอร์ตี้  รวบรวมผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตั้งความหวังที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงสุดท้ายของปี ทำให้หลายภาคส่วนมองว่ากลุ่มอสังหาฯ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทย วันนี้พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จะพามาประมวลผลประกอบการ 9 เดือนแรกของ 9 บริษัทอสังหาฯชั้นนำในประเทศไทย ในรายละเอียดของยอดขาย  ผลกำไร และอัตราการเติบโตจากปีที่แล้ว

นายอนุกูล  รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมตอบโจทย์ทุกบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า “ในไตรมาส 3 ปี 2566 เริ่มเห็นทิศทางเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้น ด้วยมีปัจจัยบวกหลายส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจ  ในภาครัฐบาลมีนโยบาย Free Visa เป็นแรงบวกช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน ที่เดินทางเข้ามาเพื่อการพักผ่อนในระยะสั้น และหาที่อยู่เป็นที่พักอาศัยที่ 2 ในระยะยาว รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำต่างแข่งขันจัดแคมเปญใหญ่ๆเร่งการซื้อ และเตรียมโอนปลายปี  ส่งเสริมให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์โตขึ้นแบบประคองตัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลศูนย์อสังหาริมทรัพย์ พบว่ายังคงมีจำนวนหน่วยโอนฯห้องชุดของคนต่างชาติ 3,365 หน่วย มูลค่า 17,048 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.6% และ 21.1% ของการโอนฯห้องชุดทั้งหมด ตามลำดับ โดยมีการขยายในเชิงจำนวนหน่วย เพิ่มขึ้น 0.4%  ส่งผลทำให้กิจกรรมตลาดของธุรกิจอสังหาฯมีแนวโน้มขยับในทิศทางที่ดี เพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามและเตรียมรับมือในอีกหลายประเด็น ทั้งทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย แนวโน้มราคาพลังงานและราคาค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ต้นทุนและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น  รวมถึงสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2566 ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 1.5% โดยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8% อย่างไรก็ดี ผลสำรวจผู้ประกอบการผู้พัฒนาตลาดที่อยู่อาศัย ในไตรมาสที่ 3 ถือว่าภาพรวมของอสังหาฯ มีทิศทางที่ทรงตัวอยู่  อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในระดับราคาปานกลางถึงราคาต่ำ แต่ในระดับราคาปานกลางค่อนข้างสูง ถึงราคาสูง ยังคงไม่กระทบต่อการตัดสินใจซื้อ ด้วยเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีความพร้อมในการขอสินเชื่อมากกว่า”

แสนสิริแชมป์กำไรสูงสุด โดย 9 บริษัทอสังหาฯ ทำกำไรรวมกันถึง 2.7 หมื่นล้าน

สำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯมีการเผยตัวเลขกำไรสุทธิ 9 เดือนแรก พบว่า แสนสิริ กำไรสุทธิ 4,760 ล้านบาท ครองแชมป์อันดับ 1.โตสูงถึง 91.3%  ตามมาด้วยอันดับ 2.เอพี ไทยแลนด์ กำไรสุทธิ 4,719 ล้านบาท กำไรลดลง 0.1%  3.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กำไรสุทธิ 3,989 ล้านบาท  กำไรลดลง 36.9%  4.ศุภาลัย กำไรสุทธิ 3,972ล้านบาท กำไรลดลง 33.8%  5.ออริจิน กำไรสุทธิ 2,671 ล้านบาท  กำไรลดลง 2.5%  6.พฤกษา กำไรสุทธิ 2,082 ล้านบาท โต 30.1%  7.คิวเฮ้าส์ กำไรสุทธิ 1,896 ล้านบาท โต 8.9% 8.เอสซี แอสเสท กำไรสุทธิ 1,631 ล้านบาท โต 0.6%   และ9.เฟรเซอร์ส กำไรสุทธิ 1,537 ล้านบาท กำไรลดลง 10.4%  ตามลำดับทำให้ภาพรวมในไตรมาสที่ 3  มีบางบริษัทที่โตขึ้นและบางบริษัทลดลงเล็กน้อยจากปี 2565 

ผู้ประกอบการอสังหาฯ 9 อันดับ ฟันรายได้รวมทะลุ 1.6 แสนล้าน โดย เอพี แชมป์รายได้มากสุด

9 แบรนด์อสังหาฯ ที่มียอดรับรู้รายได้  เรียงลำดับดังนี้  รายได้รวมอันดับ 1  เอพี ไทยแลนด์ มียอดรายได้รวม 28,921 ล้านบาท 2.แสนสิริ มียอดรายได้รวม 28,047 ล้านบาท 3.ศุภาลัย มียอดรายได้รวม 21,538 ล้านบาท 4.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มียอดรายได้รวม 21,289 ล้านบาท 5.พฤกษา มียอดรายได้รวม 19,900 ล้านบาท 6. เอสซี แอสเสท มียอดรายได้รวม 15,821 ล้านบาท 7.เฟรเซอร์ส ยอดรายได้รวม 13,103 ล้านบาท 8.ออริจิน มียอดรายได้รวม 12,686 ล้านบาท และอันดับสุดท้าย คิวเฮ้าส์ มียอดรายได้รวม 6,885 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 (GDP) จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาด แต่ในขณะที่ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยมีผลประกอบการของกำไร  รายได้  และอัตราการเติบโตที่โตขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของตลาดอสังหาฯ ไทย และอาจจะมีลุ้นผลประกอบการที่ดีในไตรมาสสุดท้ายปลายปีนี้ ด้วยมีหลายบริษัทฯยังคงมีแผนงานทยอยเปิดโครงการใหม่ๆกันอย่างต่อเนื่อง เป็นการรักษาโมเมนตัมของตลาดไว้ คาดการณ์ว่าในปี  2567 ตลาดอสังหายังสามารถไปต่อได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการควรจะต้องระมัดระวังในการเพิ่ม supply ของที่อยู่อาศัยในตลาด โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่คาดว่าจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแน่นอน แต่อาจชะลอการเปิดโครงการที่มีกลุ่มลูกค้าไม่ชัดเจน และประเภทและทำเลที่มีการแข่งขันกันสูงอยู่ในปัจจุบัน