ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมาตรการ Digital Wallet หนุนจีดีพีปี 67 โตแตะ 3.6%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5 % จาก 3.0% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังประเมินว่าเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงในปี 2567 ถึงแม้ว่าตลาดการเงินมองว่ามีโอกาสที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จาก 3.0% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และถึงแม้ว่าการส่งออกสินค้าที่จะหดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1.3% (จาก -2.5%) นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกันและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธปท. ได้สิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5%
ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.1% จากภาครัฐบาลทั้งทางการลงทุนและการบริโกค และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% รวมถึง จำนวนนักท่องเที่ยวที่น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30.6 ล้านคน จาก 27.6 ล้านคนในปี 2566 และหากรวมกับมาตรการ Digital Wallet คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.6% ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.8% จากราคาน้ำมันที่มองว่าปีหน้าจะมีค่าเฉลี่ยที่ 72.5 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล
ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้ายังเข้มข้นอยู่ และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จะก่อให้เกิดโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้ และการที่ประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิเช่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้เรามีเครื่องจักรใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้