กทม. จับมือ จุฬาฯ และ สสส. ชู 3 โครงการเรือธง พัฒนากรุงเทพฯ เป็น เมืองเดินได้-เมืองเดินดี
งานนำเสนอสาธารณะ Walkable Bangkok: กรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิด และปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็น “เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี” ด้วย 3 โครงการเรือธง (Flagship) ประกอบไปด้วย (1) โครงการส่งเสริมการสัญจรด้วยการเดินเท้าบนถนนราชวิถีด้วยทางเดินลอยฟ้า (2) การปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้า บนถนนสุขุมวิท จากสุขุมวิทซอย 1 ถึงสุขุมวิท 103/4 (3) การสัญจรทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม ในกรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงพื้นที่กายภาพของเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินเท้าสัญจรในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้มหานครแห่งนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมีคุณธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวรายงาน
ในรายละเอียดทั้ง 3 โครงการเรือธง มีการนำเสนอเพิ่มเติมจากผู้จัดการโครงการและผู้เชี่ยวชาญ โดยโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบทางเดินลอยฟ้าในแนวถนนราชวิถี บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกตึกชัย รองศาสตราจารย์ ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ทางเดินลอยฟ้าจะช่วยเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน แบ่งปันทรัพยากรของโรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ โรงเรียนการแพทย์ 12 หน่วยงาน และโรงเรียนสอนคนตาบอด พร้อมทั้งเชื่อมต่อการสัญจรที่สะดวกสบาย และมีความปลอดภัยสำหรับทุกคน ทั้งผู้ป่วย ผู้มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนที่ ผู้สูงอายุ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม
พร้อมทั้งโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดทำทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม จะช่วยส่งเสริมการเดินเท้าสัญจรในทุกสภาพอากาศ โดยเลือกพื้นที่เขตเมืองชั้นในจนถึงเมืองชั้นกลางเป็นพื้นที่ศึกษา โดยมีพื้นที่นำร่องที่เหมาะสมกับการพัฒนาทั้งสิ้น 5 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ 1 ราชเทวี-สยาม-อังรีดูนังต์ บริเวณแยกราชเทวี – สยาม พื้นที่ 2 สามย่าน-ศาลาแดง บริเวณแยกสามย่าน – แยกศาลาแดง พื้นที่ 3 ราชดำริ-โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บริเวณแยกราชประสงค์ – แยกศาลาแดง พื้นที่ 4 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-พญาไท บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกพญาไท พื้นที่ 5 สาทร-ช่องนนทรี บริเวณแยกวิทยุ-แยกสาทรนราธิวาส
คุณไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด และสถาปนิกประจำโครงการฯ ได้นำเสนอถึงแนวทางการออกแบบทางเดินลอยฟ้าในแนวถนนราชวิถี และแนวทางการออกแบบทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุม จากกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับประชาชน หน่วยงาน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงคุณภาพของตัวโครงสร้าง พร้อมทั้งความเรียบและกว้างของทางเดิน มีเบรลล์บล็อกสำหรับผู้พิการทางสายตา รูปแบบของหลังคา ตลอดจนการสร้างภูมิทัศน์ทางสายตาและบรรยากาศที่ดี ส่งเสริมให้ย่านน่าเดิน สามารถเดินได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากกว่าที่เคย
และในโครงการสุดท้าย การปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบนถนนสุขุมวิทจากสุขุมวิทซอย 1 ถึงสุขุมวิท 103/4 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกริช ธนะเพทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงศักยภาพของถนนสุขุมวิทที่เปรียบเป็นถนนแห่งเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่พื้นที่แห่งนี้ยังมีจุดอ่อนด้านการสัญจร จึงมียุทธศาสตร์และข้อเสนอแนวทางเบื้องต้นในการปรับปรุงทางเท้าสุขุมวิท 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การเพิ่มระยะของทางเท้า 2) สร้างบรรยากาศที่รื่นรมย์ และอัตลักษณ์ของย่าน 3) ส่งเสริมหน้าบ้านหน้ามองของอาคารริมถนน และ 4) เชื่อมเส้นทางการเดินเท้าเข้ากับการสร้างอัตลักษณ์ของย่าน
พร้อมด้วยคุณธัชพล สุนทราจารย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์สเคป คอลลาบอเรชัน จำกัด และภูมิสถาปนิกประจำโครงการฯ กล่าวถึงการปรับปรุงให้ทางเท้ามีความกว้างที่เหมาะสม และจัดทำเบรลล์บล็อก ทั้งจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์และหาบเร่แผงลอย พร้อมเชื่อมทางเดินเท้าเข้ากับพื้นที่หน้าอาคาร สร้างบรรยากาศของย่านให้น่าเดิน ปรับปรุงบริเวณป้ายรอรถประจำทาง และบริเวณใต้ทางลงรถไฟฟ้า พร้อมทั้งการสะท้อนเอกลักษณ์ของย่านผ่านการออกแบบทางเดินเท้า และการฟื้นฟูย่านให้ด้วยการเลือกใช้พรรณไม้ที่เหมาะสม สามารถสร้างร่มเงาและกรองฝุ่น โดยหารือแนวทางร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของย่านผ่านการออกแบบให้แสงสว่าง ทั้งการเลือกค่าความเข้มของแสง การเลือกใช้ประเภทของหลอดไฟ ตลอดจนการสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับย่าน โดยคำนึงถึงลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและมลพิษทางแสง ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานรู้สึกปลอดภัยจากการเดินทางในทุกช่วงเวลา
การศึกษา 3 โครงการเรือธง (flagship) ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เดินได้-เดินดี ไม่ใช่แค่การปรับปรุงทางเดินเท้า แต่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่มีเบื้องหลังจากความท้าทายอันหลากหลาย ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการส่งเสริมสุขภาวะ ตลอดจนการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น กทม. UDDC สสส. และภาคีเครือข่าย จึงเห็นความจำเป็นของการยกระดับ “การขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาเมืองเดินได้-เดินดี” เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเมืองกรุงเทพมหานครต่อไป