DRT ประกาศแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตอิฐมวลเบาเพิ่ม 2.9 ล้านตร.ม. รับความต้องการสินค้าพุ่ง คาดเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 2/2568
บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร หรือ DRT’ ประกาศแผนการลงทุนรอบใหม่ ขยายกำลังการผลิตอิฐมวลเบาเพิ่ม 2.9 ล้านตารางเมตร ภายใต้งบลงทุนประมาณ 648 ล้านบาท แก้ปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดฯ คาดใช้เวลาดำเนินโครงการ 14 เดือน แล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 ของปี 2568 เสริมศักยภาพการแข่งขันสร้างการเติบโตในระยะยาว
นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT ผู้ผลิตและจำหน่ายระบบหลังคา ไม้สังเคราะห์และบอร์ดไฟเบอร์ซีเมนต์ บอร์ดตกแต่งผนัง อิฐมวลเบา ไม้บันได SPC-FC ร้านกาแฟสำเร็จรูป (DIAMOND CAFE) และบริการติดตั้งโครงหลังคาและกระเบื้องหลังคา ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ตราเพชร’ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 มีมติอนุมัติแผนการลงทุนในโครงการติดตั้งเครื่องจักรผลิตสินค้าอิฐมวลเบา (AAC-2) ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากฐานการผลิตอิฐมวลเบาทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานในจังหวัดสระบุรีและเชียงใหม่ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 5,800,000 ตารางเมตรต่อปี มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเกือบเต็ม 100% ดังนั้น การลงทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของ DRT เพื่อตอบสนองความต้องการใช้อิฐมวลเบาในงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการติดตั้งเครื่องจักรสายการผลิตอิฐมวลเบา (AAC-2) มีขนาดกำลังการผลิตประมาณ 2,900,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 163,200 ตันต่อปี ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 648 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาจัดซื้อเครื่องจักรและติดตั้งประมาณ 14 เดือน และจะสามารถดำเนินการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดปัญหาการผลิตสินค้าที่ไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้าในช่องทางร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายย่อยและห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบาเพื่อเพิ่มปริมาณการขายสินค้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น
“อิฐมวลเบา เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีจากดีมานด์ในตลาดที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับความนิยมใช้ในการก่อสร้างผนังทดแทนการใช้อิฐมอญแบบเดิมๆ ด้วยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความร้อนและระยะเวลาการก่อสร้าง จึงมั่นใจว่าเมื่อเครื่องจักรใหม่ติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องจักรแล้ว จะทำให้การผลิตอิฐมวลเบามีความยืดหยุ่นและสามารถบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ดีให้แก่ DRT ต่อไปในอนาคต” นายสาธิต กล่าว