เบเยอร์ เดินหน้าต่อยอดกิจกรรม Colorful คลองบางลำพู แต่งแต้มความสดใสให้กรุงเทพฯ ด้วยสีลดโลกร้อน
เบเยอร์ ผู้นำสีนวัตกรรม รักษ์โลก รักคุณ นำโดย ดร.วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ พร้อมด้วยพนักงานจิตอาสา ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม “Colorful คลองบางลำพู” ต่อยอดโครงการฟื้นฟูเมืองเก่าย่านคลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง คลองคูเมืองเดิม และคลองบางลำพู โดยส่งมอบผลิตภัณฑ์สีลดโลกร้อน “เบเยอร์คูล” แก่ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมลงพื้นที่แต่งแต้มสีสัน ทาสีอาคาร ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมฝั่งคลองบางลำพู ให้กลับมามีชีวิตชีวาเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม
ทั้งนี้ เบเยอร์ ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ “เบเยอร์คูล” สีนวัตกรรมลดคาร์บอน ลดโลกร้อน สำหรับนำไปปรับปรุงภูมิทัศน์ในกิจกรรมดังกล่าวรวมมูลค่ากว่า 280,000 บาท ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการจับมือดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่โครงการสีสวย สวนงาม สำราญในสราญรมย์ และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์กรุงเทพฯ ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา โดยกิจกรรม “Colorful คลองบางลำพู” ครั้งนี้ มีการเลือกใช้กลุ่มสีจากชุดสีพิเศษ ได้แก่ สีทับทิมบพิธ จากชุดสีสิริมงคล และเฉดสีอื่น ๆ อาทิ 139-1 Carbon Coal, 117-6 Run for the Roses, 117-5 Victoria Vanity, 121-5 Raspberry Ice, 122-6 Regal Rose และ114-5 Rose Trellis ที่นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องของสีสันสวยงามคงทนแล้ว ยังช่วยให้อาคารบ้านเรือนเย็นขึ้นจากนวัตกรรมเซรามิกคูลลิ่ง ที่มีคุณสมบัติสะท้อนและสกัดกั้นความร้อน รวมไปถึงสีเบเยอร์คูล ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ด้วยสีรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
สำหรับ กิจกรรม “Colorful คลองบางลำพู” เริ่มตั้งแต่ช่วงระหว่างแยกสะพานอุษาสวัสดิ์ - แยกสะพานนรรัตน์สถาน รวมระยะทางทั้งสิ้น 200 เมตร มีอาคารที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 29 อาคาร ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ มีรูปแบบ และสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ และพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ต่อเนื่อง ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงเลือกใช้สีที่สะท้อนอัตลักษณ์ จากชุดสีของเบเยอร์ ที่เห็นได้จากงานจิตรกรรม และนำธรรมชาติในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นสีให้เลือกใช้ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูภูมิทัศน์ของย่านคลองบางลำพู ที่มีคุณค่าและความสำคัญของกรุงเทพฯ ให้เกิดความสวยงาม อีกทั้งต้องการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะริมคลองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ มากขึ้น รวมถึงรองรับกิจกรรมงาน Colorful Bangkok ในพื้นที่คลองบางลำพู ที่กำลังจัดขึ้นอีกด้วย