กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เผยว่าตลาดการเงินต้นปีนี้ผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นจากสิ้นปีก่อน เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยช้าลงและน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ หลังเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด โดย SCB FM มองว่าในการประชุม Fed คืนวันพุธนี้ Fed จะคงดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด และ Fed จะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 สำหรับมุมมองดอกเบี้ยไทย มองว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยตลอดปีนี้แม้ว่าเลขเศรษฐกิจไทยจะออกมาต่ำกว่าคาด และมีแรงกดดันจากการเมืองอยู่บ้าง สำหรับค่าเงินบาท คาดว่าในระยะสั้นจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจยังแข็งแกร่ง กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังแข็งต่อ อีกทั้งเงินหยวนอาจอ่อนค่าจากเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังอ่อนแอ และนักลงทุนยังกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ยังมองว่าเงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 32.00-33.00 ณ สิ้นปี ได้

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินเปิดปีมานี้ผันผวนค่อนข้างมาก ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่ากว่า 3% ในเดือนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับมุมมองของนักลงทุนต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดต่อเนื่อง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ก็สื่อสารว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะคุยถึงการลดดอกเบี้ย (Hawkish tone) ทำให้ตลาดมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยช้าลง จากที่เคยมองว่าจะลดดอกเบี้ยได้ในเดือนมีนาคมปีนี้ แต่ล่าสุดมองว่าโอกาสลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมเหลือเพียงราว 50% เท่านั้น สำหรับภาพรวมของทั้งปี ตลาดปรับมุมมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยน้อยลงเช่นกัน จากที่ปลายปีก่อนเคยมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 6-7 ครั้งในปีนี้ ปัจจุบันตลาดมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยเพียง 5-6 ครั้งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) จึงปรับสูงขึ้น พร้อมเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed ในคืนวันพุธนี้ Fed จะคงดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นไปตามที่ตลาดคาด สำหรับโทนการสื่อสารของ Fed ที่ตลาดจับตามองนั้น Fed จะยังโทน Hawkish อยู่ คือน่าจะสื่อสารว่าการลดดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก และจะไม่ลดดอกเบี้ยแรงมาก ซึ่งจะทำให้ US Treasury yields ทรงตัวในระดับสูงต่อได้ โดยมองกรอบ 2-year yield อาจอยู่ที่ราว 4.28-4.43% ส่วน 10-year yield อาจอยู่ที่ราว 4.05-4.20% ในช่วงนี้ สำหรับในระยะยาว มองว่า Treasury yield curve จะชันขึ้น โดย Yields ระยะสั้นจะลดตาม Fed fund rate แต่ Yields ระยะยาวลดน้อยกว่าจาก Term premium ที่น่าจะสูงขึ้น อีกทั้ง พันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มออกมามากขึ้น (คาดที่ราว $1.6ล้านล้าน) และ Fed จะยังลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ต่อ

นายแพททริก กล่าวว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้ง สะท้อนจากตลาด Swap บนอัตราดอกเบี้ย THOR ระยะสั้นของไทยอยู่ต่ำกว่า Policy rate ซึ่งเหตุผลที่ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยมาจากเงินเฟ้อไทยที่ติดลบ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดีนักหลังเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาด และแรงกดดันการเมืองที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับสูงเกินไปซึ่งกดดันค่าครองชีพครัวเรือน อย่างไรก็ดีในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ย THOR OIS และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะปรับสูงขึ้นได้ เนื่องจากตลาดน่าจะ price out การลดดอกเบี้ยออกไป จากเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น เงินเฟ้อน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 2 และอุปทานพันธบัตรรัฐบาล ปี 2024 ที่จะมากกว่าในปี 2023 โดยประเมินว่า 2-year yield อาจอยู่ที่ราว 2.40-2.50% ส่วน 10-year yield อาจอยู่ที่ราว 2.60-2.70%

นายแพททริก กล่าวว่า เงินบาทกลับอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปีนี้หลังแข็งค่าขึ้นมากเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่านั้นเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าตามมุมมองการลดดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลง และ Sentiment ในตลาดทุนไทยที่ยังไม่ค่อยดีนัก สำหรับมุมมองในระยะสั้นนี้ คาดว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอยู่ โดยอาจอยู่ในกรอบราว 35.00-36.00 จาก 1) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจยังแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด ทำให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อได้ 2) ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ยังอ่อนแอต่อซึ่งกดดันเงินหยวนและค่าเงินภูมิภาคตามไปด้วย และ 3) นักลงทุนยังกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวยังมองว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าต่อได้ เนื่องจาก 1) เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะชะลอลงต่อเนื่องโดยอัตราเงินเฟ้อต่อปีเฉลี่ย 3 เดือน (3-month annualized rate) ลดลงต่ำกว่า Fed’s target ที่ 2% แล้ว ทำให้ Fed อาจเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ได้ 2) ค่าเงินหยวนจะทยอยแข็งค่าขึ้นหลังภาครัฐออกมาตรการดูแลตลาดเงินต่อเนื่อง โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณจากเลขการส่งออกจีนที่ขยายตัวสูงขึ้นและเงินเฟ้อจีนที่ติดลบน้อยลง และ 3) เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นจากปีก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าสู่ระดับ 32.00-33.00 ณ สิ้นปีนี้ได้