โดย นาย ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์​ จำกัด

สวัสดี สมาชิก ผู้อ่าน TerraBKK  ปี 2567 ผ่านไปเร็วมากนะครับ ตอนนี้ก็เข้าเดือน มิถุนายน แล้ว เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผ่านช่วงหน้าร้อน เข้าสู่หน้าฝน กัน แล้ว

ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ ร้อน ถึง ร้อนมาก ของประเทศไทย อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดแตะ 45 องศา ในบางพื้นที่ และ หลายประเทศในเอเชีย ทั้ง อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม คือ เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน คือ อุณหภูมิสูง แตะระดับ 40 กว่า องศา กันถ้วนหน้า เป็นสาเหตุที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะเรือนกระจก ซึ่งพูดกันมาหลายปี และ เริ่มลงมือทำกันอย่างจริงจัง ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคของดิจิทัล การใช้พลังงานทางเลือก เริ่มเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงการอาคารต่างๆ โดยเฉพาะ อาคารที่ต้องใช้พลังงานสูง อย่าง อาคารศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งเป็น อาคาร ที่ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อเก็บสำรองข้อมูลตลอด 365 วันๆ ละ 24 ชั่วโมง แบบไม่มีพัก

ดังนั้น การพัฒนาอาคารประเภทนี้ จำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีการพัฒนาอาคาร แบบ อาคารเขียว มาใช้ในการก่อสร้าง และ ดูแลอาคาร เพื่อที่จะช่วยประหยัดพลังงาน รวมไปถึง ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

จากผลการศึกษาของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปัจจุบัน ตลาดการลงทุน โครงการอาคารศูนย์ข้อมูลของไทย ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน และมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้น แต่ยังเป็นรองมาเลเซียที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทย 3 เท่า คาดการณ์ว่าตลาดโครงการศูนย์ข้อมูลไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 31.2 ต่อปี ขณะที่มาเลเซียเติบโตราวร้อยละ 36.8 ในระยะ 4 ปีข้างหน้า โดยล่าสุดบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟต์เพิ่งประกาศลงทุนสร้างโครงการศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในไทย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าตลาดธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในไทยกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น

อาคารศูนย์ข้อมูลเป็นอาคารที่มีการใช้งานระบบเซิร์ฟเวอร์ตลอด 24 ชั่วโมง จึงต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาล  ต้องใช้ระบบทำความเย็นเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ต่างๆเกิดความร้อนสูงเกินไปและมีการใช้น้ำปริมาณมากเพื่อระบายความร้อนให้กับระบบอุปกรณ์ต่างๆ คาดการณ์ว่าในปี 2567 อาคารศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ในประเทศไทยจะใช้พลังงานไฟฟ้า 407 เมกะวัตต์หรือเทียบเท่ากับการใช้พลังงานของ 407,000 ครัวเรือนต่อปี

ผลที่ตามมาคือ อาคารประเภทนี้มักจะมาพร้อมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการก่อให้เกิด carbon footprint และขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในอุตสาหกรรมธุรกิจศูนย์ข้อมูลมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าค่าเช่าได้อีกด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างมาก

จากผลสำรวจโดยบริษัทชไนเดอร์ อิเล็กทรอนิกส์และบริษัท 451 Research โดยการสอบถามผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์ข้อมูลกว่า 800 รายพบว่า 97% ของลูกค้าที่มาใช้บริการต่างมีนโยบายและให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนจึงมักจะเลือกใช้บริการโครงการศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่มีการออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก

จากแนวโน้มดังกล่าว การที่ประเทศไทย มีเป้าหมาย ยกระดับอุตสาหกรรมธุรกิจศูนย์ข้อมูลให้เป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญของประเทศ รัฐบาลไทยจึงควรจะมี นโยบายเพื่อส่งเสริมการสร้างโครงการศูนย์ข้อมูลอย่างยั่งยืนในไทย มีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียนในโครงการศูนย์ข้อมูล เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานลม มีแผนสนับสนุนให้ธุรกิจสร้างและบริหารอาคารศูนย์ข้อมูล ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งแนวทางการสร้างอาคารศูนย์ข้อมูล อย่างยั่งยืนมีแนวคิดสำคัญหลักๆดังต่อไปนี้

1. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน: จากที่กล่าวไปข้างต้น อาคารศูนย์ข้อมูลเป็นอาคารที่มีการใช้พลังงานและน้ำสูงกว่าอาคารทั่วๆไป ดังนั้นการคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้

  • เลือกใช้ระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพ เช่น เลือกใช้ระบบปรับอากาศระบบ Chilled-water cooling ซึ่งช่วยในการประหยัดพลังงานให้กับอาคารขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี
  • ออกแบบอาคารที่สามารถป้องกันความร้อนจากภายนอกเพื่อลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ  เช่น มีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่ผนังอาคารและหลังคา
  • ใช้ระบบการระบายความร้อนของระบบเซิร์ฟเวอร์ด้วยอากาศแทนการใช้น้ำเพื่อลดการใช้น้ำในโครงการ มีการบำบัดน้ำจากระบบระบายความร้อนแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำในระบบ
  • การใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ BAS (Building Automation System) ในการสั่งการและบริหารจัดการการใช้พลังงานต่างๆภายในอาคาร เช่น ใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศหรือใช้ควบคุมการเปิดปิดระบบแสงสว่างแสงสว่างในขณะที่ไม่มีคนใช้งาน

2. การใช้พลังงานทดแทน: อาคารประเภทศูนย์ข้อมูล ควรคำนึงถึงการติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม  เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทำให้ระบบเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

3. การขอรับรองมาตรฐานอาคารเขียว: มีการนำมาตรฐานอาคารเขียวมาใช้ในการออกแบบหรือบริหารจัดการอาคาร เช่น มาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานอาคารเขียวไทย TREES (Thai Rating of Energy and Environmental Sustainability) ของประเทศไทย  ซึ่งมาตรฐานอาคารเขียวสามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูลที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี โดยในประเทศไทยมีโครงการศูนย์ข้อมูล หลายโครงการที่นำมาตรฐานอาคารเขียวต่างๆมาใช้ในโครงการ ยกตัวอย่างเช่น

  • อาคาร STT Bangkok 1 :

อาคารศูนย์ข้อมูล 1 ในอาคาร 2 หลังของโครงการแคมปัส STT Bangkok ตั้งอยู่บนถนนหัวหมากในจังหวัดกรุงเทพฯ มีความสูงทั้งหมด 7 ชั้นและมีพื้นที่อาคารรวมทั้งหมด 30,000 ตารางเมตร ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED V4 ในระดับ Gold มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงในเรื่องการใช้ทรัพยากรน้ำ พลังงาน คุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร และการใช้วัสดุและทรัพยากร

  • อาคาร PTT New Data Center

ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED V3 ในระดับ Gold ภายในโครงการมีการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าและน้ำเย็นภายในโครงการ รวมถึงมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ช่วยประหยัดค่าไฟได้ในอาคารได้ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน

4. การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์: นอกจากเรื่องการใช้พลังงานแล้ว อาคารศูนย์ข้อมูล ยังสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย  ซึ่งขยะเหล่านี้มักเป็นอุปกรณ์เก่าที่ตกรุ่นหรืออุปกรณ์ที่เสียแล้ว ซึ่งหากไม่กำจัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ แนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสียที่เหมาะสม รวมถึงการรีไซเคิลและการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการใช้วิธีระบบต่างๆเพื่อยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอาคาร Data Center เช่น ใช้วิธีการนำชิ้นส่วนบางชิ้นจากระบบเซิร์ฟเวอร์เก่าที่ยังใช้งานได้ดีอยู่นำมากลับมาใช้ใหม่เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในอาคาร

จากแนวทางดังกล่าว จะเปิดโอกาส ให้ประเทศไทย กลายเป็น ผู้นำในการเป็นศูนย์กลางของ ธุรกิจศูนย์ข้อมูล ในระดับภูมิภาค ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาโครงการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้าง เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  ที่ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) แต่ยังจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนธุรกิจประเภทนี้ในประเทศไทยมากขึ้น

แล้วพบกันใหม่เดือนกรกฏาคม นะครับ