พฤกษา ฉลอง 31 ปี จับมือ 5 พันธมิตร ขับเคลื่อนโครงการ วนพลัส Recycle รณรงค์ลูกบ้าน 31 โครงการ คัดแยกขยะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ เพื่อโลกที่ยั่งยืน
พฤกษา ตอกย้ำเจตนารมณ์ “Live well Stay well อยู่ดี มีสุข” ใช้โอกาสในวาระครบรอบ 31 ปี จับมือ 5 พันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ต่อยอดโครงการ “วน@PRUKSA” สู่ “วนพลัส Recycle รวมพลังสร้างโลก อยู่ดีมีสุข” ขยายประเภทขยะรีไซเคิล เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ พร้อมชวนลูกบ้านในเครือพฤกษา 31 โครงการ รวมกว่า 9,666 ครอบครัว ร่วมคัดแยกขยะให้ถูกวิธี เพื่อเป้าหมายลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน สร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขยะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนขึ้น ส่วนหนึ่งของปัญหาคือการแยกขยะไม่ถูกวิธี ซึ่งปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะราว 10,706 ตันต่อวัน แต่มีเพียง 3,672 ตันเท่านั้น ที่สามารถแยกนำไปรีไซเคิลได้ ด้วยเหตุนี้ พฤกษาซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ดี มีสุข และสานต่อแนวคิด ESG ที่ผสานด้านสภาพแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เมื่อสามปีที่ผ่านมา จึงได้ริเริ่มจัดโครงการ วน@PRUKSA เพื่อรณรงค์ให้ลูกบ้านคัดแยกขยะพลาสติกยืดได้และนำไปรีไซเคิล ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการลดขยะลงแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยปีที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถนำพลาสติกไปรีไซเคิลได้ 235 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 205 kgCO2e. และในโอกาสที่พฤกษาครบรอบ 31 ปีในปีนี้ จึงได้ต่อยอดโครงการวน@PRUKSA สู่ “วนพลัส Recycle รวมพลังสร้างโลก อยู่ดีมีสุข” ซึ่งจะขยายการจัดเก็บประเภทขยะที่หลากหลายมากขึ้น และยกระดับการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ซึ่งวนพลัส Recycle นับเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายและช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นสร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ของเรา โดยคาดว่าโครงการนี้จะสามารถนำขยะกลับไปรีไซเคิลได้มากกว่า 500 กิโลกรัม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ต่ำกว่า 435 kgCO2e.” นายปิยะ กล่าว
โครงการวนพลัส Recycle เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง พฤกษา นิติบุคคลโครงการ และพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม 5 องค์กร ได้แก่ บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด , บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไททัน อินโนเวชัน จำกัด, บริษัท บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด โดยได้ขยายประเภทการจัดเก็บขยะจากพลาสติกยืดได้เพียงประเภทเดียวเพิ่มเป็นขยะ 4 ประเภท ได้แก่ 1) ขวดพลาสติก PET, HDPE และ PP ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหาร 2) ฟิล์มและพลาสติกยืดได้ 3) ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4) ขวดแก้ว โดยรณรงค์ให้ลูกบ้านในเครือพฤกษา 31 โครงการ จำนวนราว 9,666 ครอบครัว มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำไปรีไซเคิลด้วยกระบวนที่ได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพร้อมคิกออฟโครงการในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนนี้
นายชนัมภ์ ชวนิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด กล่าวว่า “เราเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันรีไซเคิลเดย์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ก่อกำเนิดขยะ ผู้ขนส่งขยะ ผู้รับกำจัดขยะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราคิดว่าการจัดการขยะรีไซเคิลโดยใช้แอปพลิเคชันจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนจำนวนมากในสังคมที่รอการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการขยะที่ดีและง่ายขึ้น สำหรับความร่วมมือกับพฤกษาในโครงการวนพลัส Recycle ครั้งนี้ เราจะส่งรถเก็บขยะเข้าไปรับขยะของลูกบ้านในโครงการของพฤกษา จากนั้นจะนำขยะไปแยกประเภท และขนส่งขยะแต่ละประเภทไปยังโรงงานแปรรูปขยะต่อไป ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวนพลัส Recycle จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยปรับพฤติกรรม มีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และทำให้การคัดแยกขยะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของทุกคน”
นายศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารโครงการ “วน” เปิดเผยว่า “โครงการวนมีความยินดีอย่างมากที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในการร่วมต่อยอดโครงการนี้ให้เติบโตและสามารถจัดการขยะในโครงการต่าง ๆ ของพฤกษาให้ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น โครงการวนเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นทั้งกับพฤกษาและรีไซเคิลเดย์ เราจึงเห็นว่าหากทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมมือกัน จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะอย่างถูกต้องให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก เราจึงภูมิใจอย่างมากที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงนี้”