กรีน โอลิมปิก กับ แนวคิด สถาปัตยกรรม อย่างยั่งยืน
เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2567 กันแล้วนะครับ ผู้อ่านแต่ละท่านเป็นอย่างไรกันบ้างครับ เดือน กรกฎาคม เป็นเดือนที่มีมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ อย่าง กีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ ฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ ที่จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567
ความน่าสนใจของการจัด กีฬาโอลิมปิก 2024 นอกจากจะเป็นการจัดกีฬา โอลิมปิก แบบเต็มรูปแบบ หลัง การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้ว ยังเป็นการเปิดมิติใหม่ ของการจัดมหกรรม กีฬา ระดับโลก ที่นำแนวคิดการจัดงาน โดยคำนึงถึง สภาพแวดล้อม และ สังคม ภายใต้แนวคิดอย่างยั่งยืน ที่ ผม มองว่า เป็นแนวคิดที่ดี และ จุดประกายความคิดในการจัดงานมหกรรมต่างๆ ทั้งในระดับ ชุมชน ไปจนถึงระดับโลก ที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ในการจัดงาน
โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ สถาปัตยกรรม และ ภูมิสถาปัตย์ ที่นำแนวคิดที่เป็นมิตรกับ สังคม และ สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนมาใช้ (Environment, Social, Governance Sustainable หรือ ESG)
เริ่มต้นกันที่ ด้านสถาปัตยกรรม
ปกติในการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก ผู้จัดงานจะเลือกทำเล และ สร้างบ้านพักนักกีฬา รวมไปถึง สนามแข่งขันกีฬา ใหม่ เหมือนที่ ประเทศไทย เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเชี่ยน เกมส์ ปี 2541 ในปีนั้น ไทยต้อง ลงทุนสร้าง ทั้ง ที่พักนักกีฬา และ สนามกีฬาใหม่ๆ ที่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ รังสิต ที่ต่อมา หลาย อาคารถูกใช้งาน เป็นที่พักนักศึกษา
หรือ การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 ที่ประเทศ การ์ตา ใช้งบลงทุนไป 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้าง สนามกีฬาใหม่ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทุกๆ การก่อสร้าง จะสร้างทั้งมลภาวะทางเสียง ขยะ รวมไปถึง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม ที่สร้างมลภาวะและขยะมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
แต่ในการจัดงาน โอลิมปิก 2024 ประเทศเจ้าภาพอย่าง ฝรั่งเศส เลือกที่จะใช้สถานที่ ที่มีอยู่แล้ว คิดเป็นสัดสวนถึง 95% ของพื้นที่การจัดงานทั้งหมด ทำการซ่อมบำรุงให้ดูทันสมัยและเหมาะสมกับการแข่งกันหมายความว่า ไม่ต้องมีการสร้างอาคารใหม่ สามารถลดการก่อให้เกิดมลภาวะที่กระทบกับสภาพแวดล้อม จากกระบวนการก่อสร้าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองกับทรัพยากรในการสร้างสนามกีฬามากนัก
ในขณะที่สถานที่ ที่ต้องสร้างใหม่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ถูกออกแบบ ให้เป็น อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบอาคาร ให้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ อาคาร 8 ชั้นที่ สร้างขึ้นจากซีเมนต์สีเขียว ซึ่งเกิดจากการนำวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุรีไซเคิลมาผสมในคอนกรีตเพื่อช่วยลดปัญหาหรือส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การใช้สถานที่ ที่มีอยู่เดิมในการจัดงาน นอกจากจะลดการใช้วัสดุก่อสร้าง และ มลภาวะ แล้ว ที่สำคัญคือ ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ใหม่ สามารถที่จะใช้ระบบสาธารณูปโภค เดิม รวมถึง ระบบขนส่งสาธารณะ ที่มีอยู่แล้ว เพื่อตอบโจทย์กับจำนวนนักกีฬา และ นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬา
นอกจากนี้ เมืองยังได้เพิ่มเลนจักรยานใหม่ยาว 800 ไมล์ และปลูกต้นไม้ใหม่ 300,000 ต้นซึ่งจะคงอยู่ไปอีกนานหลังจากมหกรรมโอลิมปิก 2024 จบลง
ด้าน พลังงาน โอลิมปิก 2024 ใช้ พลังงานสีเขียว 100%
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดกิจกรรมขนาดใหญ่อย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิก จำเป็นต้องใช้ พลังงานจำนวนมหาศาล ในการจัดกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน สำหรับ โอลิมปิก 2024 เจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส เลือกที่จะใช้พลังงานสีเขียว 100% ตลอดช่วงเวลาของการจัดงาน โดยใช้พลังงานจากลม และ พลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ๆ เช่น กังหันลมบนชายฝั่งนอร์มังดี ไปจนถึงแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา สถานที่จัดงานในปารีส
นอกจากด้านสถาปัตยกรรม และ พลังงาน แล้ว ผู้จัดงานยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการขนส่ง อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบด้านอาหาร จากฟาร์มในท้องถิ่น ตลอด 13 ล้านมื้อที่เสิร์ฟ ระหว่างการแข่งขัน เพื่อลดปริมาณการขนส่ง จากต่างเมือง เป็นผลทางอ้อมในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่า ตลอดระยะเวลาการจัดงานจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจก ลงได้ 50% ในขณะเดียวกัน ผู้จัดงานยังวางแผนซื้อคาร์บอนเครดิต (คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วที่มีปัญหาในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะซื้อโควตาคาร์บอนจากประเทศกำลังพัฒนา) ในโครงการป้องกันและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ เพื่อให้ ปารีสโอลิมปิก 2024 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
จากแนวคิดดังกล่าว สามารถนำมาปรับใช้สำหรับการจัดมหกรรมกีฬา รวมไปถึง กิจกรรมระดับชุมชน ระดับประเทศ และ นานาชาติ ในประเทศไทย ที่รัฐบาลต้องการจะให้ไทย เป็นศูนย์กลางในการจัดงานในระดับนานาชาติ ทั้งด้านมหกรรมกีฬา ดนตรี เพื่อสร้างรายได้ จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น
อาทิ การที่ประเทศไทย เสนอตัวเป็น เจ้าภาพ การแข่งขัน Formula One และ Formula E เราสามารถที่จะนำแนวคิดในการจัดงานที่เป็นมิตรกับสังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ การเลือกทำเล ที่เดินทางได้สะดวก รวมไปถึง การเลือกใช้อาคารเดิมสำหรับเป็นที่พักของนักกีฬา การนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในการจัดงาน การใส่ใจเรื่องรายละเอียดในการเดินทาง ของ ทั้งนักกีฬา และ ผู้ชม ด้วยรถสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ ที่สร้างก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ผมว่า นอกจากนำแนวคิดการจัดงานโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส มาใช้ในการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ในประเทศแล้ว ยังสามารถนำแนวคิดของ โอลิมปิก 2024 มาใช้ในการปรับปรุงอาคารเก่าๆ ในประเทศไทย ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ ที่ก่อสร้างมาเกิน 10 ปี ให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในอาคาร รวมไปถึง การปรับปรุงอาคารด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นประโยชน์กับสภาพแวดล้อมโดยรวมและลดการใช้พลังงานสำหรับอาคารต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของ การที่ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 หลังจากที่เราเข้าร่วมลงสัตยาบรรณ COP26
แล้วพบกันใหม่เดือนสิงหาคม ครับ
โดย นาย ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด