โดย ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด

 

เทคโนโลยี “3D Printing” เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลากหลายชนิดส่วนหนึ่งเพื่อลดการใช้แรงงาน และ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต ประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นในภาคอุตสาหกรรม

จาก “3D Printing” ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบัน เทคโนโลยี “3D Printing” ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมสูง ทั้ง มลภาวะทางเสียง ฝุ่น และขยะ จากผลการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ “Building Materials and the Climate : Constructing a New Future” ฉบับเดือนกันยายน 2566 ระบุว่า อุตสาหกรรมก่อสร้าง ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 37% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกของโลก

การนำเทคโนโลยี “3D Printing” มาใช้ในงานก่อสร้าง จึงเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดปริมาณขยะและก๊าซเรือนกระจก ระหว่างกระบวนการก่อสร้าง ที่น่าสนใจ และเริ่มถูกนำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย วันนี้ ผมเลยนำเอาแนวคิดในการสร้างอาคารโดยใช้เทคโนโลยี “3D Printing” มาเล่าให้ผู้อ่าน TerraBKK ได้รู้จักกัน ถึงแม้ต้นทุนของการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะสูง กว่าการก่อสร้างแบบปกติ เมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน แต่เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง ลดปริมาณการสูญเสียวัสดุก่อสร้างระหว่างการก่อสร้าง ไปจนถึง การลดปริมาณขยะ และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมแล้ว ผมว่า ผลได้ มีมากกว่า ผลเสีย ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนในกรอบของ ESG (Environment, Social, and Governance)

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพสามมิติ (3D Printing) กันก่อนครับ

เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพสามมิติ (3D Printing) ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง คือ กระบวนการก่อสร้างที่ถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติจักรกล เพื่อสร้างโครงสร้างผ่านการเติมเนื้อวัสดุขึ้นทีละชั้นตามแบบจำลองดิจิทัล โดยวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการทำ 3D Printing มีหลากหลายวัสดุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น คอนกรีต โพลิเมอร์ คอมโพสิต เหล็ก เซรามิก แก้ว รวมถึงวัสดุรีไซเคิล ซึ่งวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้างอาคารและเป็นโครงสร้างหลักในการรับน้ำหนักอาคาร คือ คอนกรีต ที่รวมไปถึงซีเมนต์เพสต์ (Cement Paste) และมอร์ตา (Mortar) หรือที่เรียกว่า การพิมพ์คอนกรีตสามมิติ (3DCP: 3D concrete printing)

กระบวนการของ 3D Printing เริ่มต้นจาก

-การออกแบบและการสร้างแบบจำลองดิจิทัล (Digital Design and Modeling) ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนพิมพ์เขียวสำหรับกระบวนการก่อสร้าง

-เพื่อนำส่งเข้ากระบวนการแบ่งส่วนผ่านซอฟต์แวร์เฉพาะทาง (Slicing Software Preparation) ที่ใช้แบ่งส่วนแบบจำลองดิจิทัลออกเป็นเลเยอร์ เพื่อให้เครื่องพิมพ์สามมิติสามารถเข้าใจชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ความหนาของแต่ละชั้น ความเร็วในการพิมพ์ และการควบคุมวัสดุ

-จากนั้นเป็นขั้นตอนการเตรียมวัสดุ (Material Preparation) โดยมีการผสมคอนกรีตในอัตราส่วนที่ถูกกำหนดไว้อย่างแม่นยำ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถไหลผ่านหัวฉีดของเครื่องพิมพ์ได้อย่างเหมาะสมและยังคงรักษาความแข็งแรงของโครงสร้างหลักไว้ เมื่อวัสดุพร้อมก่อสร้าง

-แล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ (Printing Process) โดยฉีดเนื้อคอนกรีตทีละชั้นทับชั้นก่อนหน้าจนสิ้นสุดตามชั้นที่แบ่งส่วนไว้ ซึ่งปกติจะถูกควบคุมโดย Robotic Arms หรือ Gantry Systems เมื่อคอนกรีตแต่ละชั้นเททับซ้อนกันเป็นชั้น จะมีประสิทธิภาพยึดเกาะกับชั้นก่อนหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการยึดเกาะที่เหมาะสมและลดช่องว่างอากาศที่อาจทำให้โครงสร้างไม่แข็งแรง จากนั้นจะต้องเสริมโครงสร้าง (Reinforcement) เช่น เหล็กเส้น หรือ ตาข่ายเหล็ก เพื่อเพิ่มความทนทานโดยรวมให้มากขึ้น

-หลังจากกระบวนการพิมพ์เสร็จสมบูรณ์จะเข้าสู่ช่วงการบ่มและการตกแต่ง (Curing and Finishing) เมื่อคอนกรีตที่ถูกบ่มแข็งตัว ก็สามารถตกแต่งเพิ่มเติมได้ เช่น การปรับพื้นผิวให้เรียบ การทาสี หรือ การเคลือบผิว เป็นต้น

เทคโนโลยี 3D Printing ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่ด้วยความก้าวหน้าในการพัฒนา ทำให้ เทคโนโลยี 3D Printing เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในช่วงต้นของทศวรรษ 2000 โดยมี 5 ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ “เทคโนโลยี 3D Printing” เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประกอบด้วย

  1. เร่งกระบวนการก่อสร้าง – การก่อสร้างแบบเดิมอาจใช้เวลายาวนานหลายเดือน หรือ หลายปีจึงจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของเทคโนโลยี 3D Printing ในการก่อสร้าง คือ การลดระยะเวลาและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานก่อสร้าง โดยการทำงานแบบอัตโนมัติผ่านการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำ ลดข้อผิดพลาด และสร้างอาคารรูปทรงที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ระยะเวลาโดยรวมของการก่อสร้างประหยัดลงไปได้มากถึง 50-70% ของการก่อสร้างแบบเดิม

โครงการที่ได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ได้แก่ 3D Printed House by Apis Cor เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทก่อสร้าง Apis Cor และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ PIK Company Group ที่ใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงในการสร้างบ้านด้วย 3D Printing โครงการถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2016 ในเมือง Stupino ประเทศรัสเซีย เป็นอาคารชั้นเดียว สไตล์กระท่อมน้ำแข็ง ขนาด 400 ตารางฟุต (หรือ ประมาณ 38 ตารางเมตร) ประกอบด้วย ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องโถง โดย Apis Cor มีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องพิมพ์สามมิติเคลื่อนที่และสามารถทำงานที่พิ้นที่งานก่อสร้างได้ทันที เพื่อลดกระบวนการทำ 3D Printing จากโรงงานและขนมาประกอบที่พื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากกระบวนการนี้แทบไม่ต่างจากการก่อสร้างแบบ Panel Construction ทั่วไป ที่มีขั้นตอนขนย้ายและประกอบที่พื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นและอาจเกิดข้อผิดพลาดระหว่างขนย้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการก่อสร้างโดยตรง ดังนั้น ด้วยความท้าทายด้านสภาพอากาศของพื้นที่โครงการ 3D Printed House ที่หนาวเย็น จึงต้องก่อสร้างด้วยความรวดเร็วและแม่นยำที่สุด Apis Cor จึงใช้เครื่องพิมพ์คอนกรีตเคลื่อนที่ที่สามารถติดตั้งและทำงานในพื้นที่ก่อสร้างได้

โดยเครื่องพิมพ์นี้สามารถขนส่งมาที่พื้นที่ก่อสร้างด้วยรถบรรทุกทั่วไปและใช้เวลาติดตั้งเครื่องพิมพ์แค่เพียง 30 นาที เครื่องพิมพ์สามารถพิมพ์โครงสร้างครอบคลุมพื้นที่ 132 ตารางเมตร ทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จและถูกกล่าวถึงทั่วโลก

2.ความคุ้มค่าด้านต้นทุน – แม้ว่าในระยะแรกการลงทุนในเทคโนโลยี 3D Printing ต้องใช้ทุนที่มากกว่าปกติ แต่ในระยะยาวสามารถสร้างความคุ้มทุนให้แก่โครงการได้อย่างมาก จากการลดการใช้แรงงานคน กระบวนการอัตโนมัติที่แม่นยำ ลดอัตราการสูญเสียวัสดุในกระบวนการก่อสร้าง และประหยัดเวลาในกระบวนการก่อสร้างที่รวดเร็วกว่าการก่อสร้างปกติ

ตัวอย่างเช่น โครงการ Office of the Future in Dubai ที่คว้าตำแหน่ง Guinness World Records สำหรับอาคารพาณิชย์ที่สร้างด้วย 3D Printing แห่งแรกของโลก เมื่อปี ค.ศ. 2020 โดย Office of the Future in Dubai ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 2016 ด้วยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเทคโนโลยี 3D Printing เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนในภาคการก่อสร้างและการแพทย์

ปัจจุบันโครงการนี้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ Dubai Future Foundation และที่จัดนิทรรศการ รวมทั้งเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีเกิดใหม่ในภูมิภาค โดยอาคารมีพื้นที่ 2,691 ตารางฟุต (หรือ ประมาณ 250 ตารางเมตร) โครงสร้างอาคารทั้งหมดถูกสร้างด้วยเทคนิค “3D printing” แบบเติมเนื้อคอนกรีต และเพื่อความสะดวก รวดเร็วในการก่อสร้าง

โครงการได้ใช้กระบวนการทำ 3D Printing โครงสร้างอาคารทั้งหมดโดยผลิตในโรงงาน ก่อนนำมาติดตั้งที่พื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งใช้เวลาการพิมพ์คอนกรีตทั้งสิ้น 17 วัน นำมาติดตั้งที่พื้นที่ก่อสร้างอีก 2 วัน จากนั้นเริ่มทำงานระบบอาคาร งานตกแต่งภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรมที่พื้นที่โครงการ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดการก่อสร้าง ใช้ผู้ปฏิบัติงาน 18 คน เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนค่าแรงงานได้มากกว่า 50% และลดวัสดุเหลือทิ้งจากงานก่อสร้างลง 30%-60% เมื่อเทียบกับอาคารที่มีขนาดใกล้เคียงกัน

3.วัสดุสร้างความยั่งยืน – อุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นหนึ่งในผู้ผลิตมลพิษที่ส่งผลระทบต่อธรรมชาติทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเทคโนโลยี 3D Printing เข้ามาช่วยลดปัญหานี้  เนื่องจากกระบวนการก่อสร้าง เป็นการก่อสร้างแบบเทวัสดุทับซ้อนกันเป็นชั้น ช่วยลดความจำเป็นในการใช้ไม้แบบเพื่อหล่อโครงสร้าง รวมถึงเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่เน้นการใช้เฉพาะวัสดุที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างและการใช้งานเท่านั้น ซึ่งช่วยลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองและปริมาณวัสดุก่อสร้างเหลือทิ้งจากเดิมได้มากถึง 50% โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างและประสิทธิภาพในการใช้งาน มากไปกว่านั้นยังสนับสนุนการนำวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการก่อสร้าง

เมื่อตุลาคมปี ค.ศ. 2018 WASP บริษัทออกแบบและก่อสร้างร่วมมือกับ RiceHouse เปิดตัวบ้านรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Gaia House ซึ่งใช้เทคโนโลยี 3D Printing ผสานเข้ากับการใช้วัสดุธรรมชาติท้องถิ่น ด้วยเป้าหมายของ WASP ที่ตระหนักถึงโอกาสในการพัฒนาอาคารเขียวแห่งอนาคต จึงสร้าง Gaia House ขึ้นเพื่อเป็น “ต้นแบบที่อยู่อาศัยใหม่ของชนบท” โดยต้นแบบแรกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 ที่เมือง Massa Lombarda ในภูมิภาค Emilia-Romagna ประเทศอิตาลี เป็นอาคารชั้นเดียว ขนาด 320 ตารางฟุต (หรือ ประมาณ 30 ตารางเมตร) ใช้เวลาก่อสร้าง 10 วัน โครงสร้างหลักสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือทิ้งตามธรรมชาติที่มาจากการผลิตข้าว ประกอบด้วย ดิน 25% (ดินเหนียว 30%, ตะกอน 40%, และทราย 30%) ฟางข้าวสับ 40% แกลบ 25% และปูนขาวไฮโดรลิค 10% ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติทั้งหมด ทำให้โครงสร้างของ Gaia สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้อย่างมาก โดยที่โครงสร้างยังมีความแข็งแรงในระหว่างที่ยังใช้งานอยู่

การออกแบบนี้ไม่เพียงแต่ใช้วัสดุยั่งยืนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้อยู่อาศัยเกิดภาวะน่าสบาย เนื่องจากการออกแบบตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสุขภาพภายในอาคาร ที่สามารถคงอุณหภูมิที่เย็นสบายได้ทั้งฤดูหนาว-ฤดูร้อน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการทำความร้อน หรือ ระบบปรับอากาศ

4.อิสระของการออกแบบและก่อสร้าง – อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของเทคโนโลยี 3D Printing เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการก่อสร้างแบบเดิม คือ ความยืดหยุ่นในการออกแบบอาคารและไม่ต้องเผชิญกับการก่อสร้างที่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นระบบการทำงานที่ใช้ข้อมูลดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ โดยการทำ 3D Printing สามารถบูรณาการเข้ากับระบบ BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ออกแบบใช้กันอย่างแพร่หลาย และสามารถส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการคำนวณค่าที่เหมาะสมของวัสดุเพื่อโครงสร้างที่แข็งแรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างด้วยระบบอัตโนมัติที่สามารถเข้าใจรูปทรงอาคารที่ซับซ้อนจากแบบจำลอง และสร้างออกมาได้อย่างถูกต้อง ปราศจากความกังวลเรื่องความถูกต้องของแบบจำลอง การคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้าง หรือ ความเป็นไปได้ในงานก่อสร้างที่ซับซ้อน

5.สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง – ทุกพื้นที่ก่อสร้างมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างได้รับบาดเจ็บ หรือ อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ทำให้การก่อสร้างด้วยระบบอัตโนมัติของเทคโนโลยี 3D Printing เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ช่วยลดความจำเป็นของการใช้แรงงานคนในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย ป้องกันความประมาทและภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน เพื่อลดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพโดยรวมของผู้ปฏิบัติงานดีขึ้น ลดความอันตรายที่ได้รับจากการสัมผัสผงโลหะ การใช้ไฟ การใช้เลเซอร์ กำลังสูง การสูดดมอนุภาคขนาดเล็กพิเศษ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และสารเคมีอันตรายอื่น ๆ

ถึงแม้เทคโนโลยี 3D Printing สำหรับการก่อสร้าง จะมีข้อดีหลายประการ แต่เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อจำกัดและความท้าทายที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยความท้าทายหลักที่เทคโนโลยี 3D printing กำลังเผชิญ ได้แก่

1.ต้นทุนของเทคโนโลยี –ปัจจุบันค่าเช่า หรือ ซื้ออุปกรณ์ 3D-Printing ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ราคาสำหรับการซื้อ-ขายอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ  – 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  (ประมาณ 3.7 – 36.5 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับขนาด และ ประเภทของเครื่องพิมพ์ โดยทั่วไประบบ Robotic Arm  จะมีราคาที่สูงกว่าระบบ Gantry-type รวมถึงค่าใช้จ่ายในเคลื่อนย้ายอุปกรณ์มายังพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึง การขนชิ้นส่วนจากโรงงานมาประกอบติดตั้งที่พื้นที่ก่อสร้าง และ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์

ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยี 3D-Printing ในการก่อสร้างโครงการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของโครงการต้องวิเคราะห์ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี เปรียบเทียบ กับต้นทุนที่ลดลงได้จากการใช้เทคโนโลยี เพื่อตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีในการก่อสร้างโครงการ

2.ขนาดของอุปกรณ์และพื้นที่ที่จำกัด อุปกรณ์ในระบบการก่อสร้างแบบ 3D Printing มีหลายประเภท หลายขนาด ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งาน ประเภทและขนาดของโครงการ โดยทั่วไปแล้วการใช้เทคโนโลยี 3D Printing จะมีอยู่ 2 แบบหลัก ๆ คือ การก่อสร้างที่พื้นที่โครงการ และ การพิมพ์แบบที่โรงงานแล้วนำไปติดตั้งที่พื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งทั้ง 2 แบบล้วนต้องคำนึงถึงวิธีการขนส่งอุปกรณ์ หรือ ชิ้นส่วน ไปยังพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ในพื้นที่ก่อสร้างที่มีขนาดจำกัด 

3.ขนาดโครงการ – เป็นความท้าทายที่สำคัญอีกประการของเทคโนโลยี 3D Printing คือ การนำไปใช้ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ตึกระฟ้า ที่อาจมีความซับซ้อนในเรื่องเทคนิคการก่อสร้างและความท้าทายด้านการขนส่ง (Logistics) ในอดีตเทคโนโลยี 3D Printing ใช้สร้างอาคารที่มีความสูงเพียงชั้นเดียว หรือ อาคารเพื่อการจัดแสดงนวัตกรรมเท่านั้น แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทำให้มีการพัฒนา 3D Printing ให้สามารถสร้างอาคารที่ใหญ่และมีความสูงมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น มัสยิด Abdulaziz Abdullah Sharbatly ที่สร้างด้วย 3D Printing แห่งแรกของโลกในเมือง Jeddah ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดย Wajnat Abdulwaheed  นักธุรกิจหญิงชาวซาอุดิอาระเบียที่มีชื่อเสียงสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง Abdulaziz Abdullah Sharbatly สามีผู้ล่วงลับของเธอ โครงการนี้เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 2024 ดูแลโดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Forsan Real Estate ที่สร้างโดยใช้การพิมพ์ 3D Printing จากบริษัท Guanli ของประเทศจีน อาคารมีเนื้อที่รวมประมาณ 5,600 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สุดที่เทคโนโลยี 3D Printing สามารถสร้างได้ในขณะนี้

ส่วนในภาคการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การใช้เทคโนโลยี 3D Printing อาจยังไม่เหมาะกับอาคารขนาดใหญ่มาก หรืออาคารสูง ด้วยปัจจัยของการบริหารโครงการ ความซับซ้อนของการก่อสร้าง พื้นที่ก่อสร้างและปฏิบัติงานที่จำกัด และความยุ่งยากในการขนส่งอุปกรณ์ขนาดใหญ่ โดยเมื่อปี ค.ศ. 2023 มีการพัฒนาอาคารพักอาศัยที่สามารถสร้างได้สูงที่สุดในโลกด้วย 3D Printing คือ โครงการ three-story villa ของ Dar Al Arkan ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ออกแบบและสร้างวิลล่าพักอาศัยที่สูงที่สุดในโลกได้สำเร็จด้วยเครื่องพิมพ์ COBOD ที่พิมพ์ได้ภายใน 26 วัน โดยวิลล่ามี 3 ชั้น สูง 9.9 เมตร ชั้นแรกมีพื้นที่ 130 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องโถง ส่วนนั่งเล่น ห้องครัว และห้องน้ำ 2 ห้อง ชั้นที่สอง มีพื้นที่ 140 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น และระเบียง ส่วนชั้นที่สามเป็นส่วนต่อเติมเป็นห้องโถงอเนกประสงค์ ห้องแม่บ้านที่มีห้องน้ำ และห้องซักผ้า

ในอนาคตเทคโนโลยี 3D Printing จะถูกวิจัยและพัฒนาทั้งองค์ความรู้ของการก่อสร้าง ความก้าวหน้าในการผลิตเครื่องพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และค่าใช้จ่ายที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ลดช่องว่างด้านขีดจำกัดการสร้าง 3D Printing ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลงได้อย่างมาก

4.การใช้วัสดุ – การเลือกใช้วัสดุเพื่อพิมพ์ภาพสามมิติยังมีข้อที่ต้องคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาในการแข็งตัวและการทนต่อสภาพอากาศที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อความแข็งแรงในการก่อสร้าง รวมถึงวัสดุที่นำมาใช้ยังต้องพัฒนาให้รองรับความหลากหลายในอนาคตและยังต้องคงความแข็งแรงของโครงสร้างที่เหมาะสม

5.มาตรฐานรองรับที่เป็นสากล – ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้กฏระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างด้วย 3D Printing ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา เพื่อให้ผู้ใช้งานอาคารสามารถมั่นใจถึงความปลอดภัยที่ได้รับการรองรับ

6.ทักษะและการทำงานร่วมกัน – การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี 3D Printing เป็นการก่อสร้างเฉพาะทางที่จำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี 3D Printing จะถูกพัฒนาและมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ และยังมีการนำมาใช้ไม่มากนัก โดยปัจจุบัน กลุ่มปูนซีเมนต์ไทย (SCG) เป็นบริษัทแรกที่นำนวัตกรรมนี้มาใช้ในประเทศไทย โดย SCG ที่เป็นผู้จำหน่ายเครื่องพิมพ์ COBOD และผู้สร้างอาคารด้วยเทคโนโลยี 3D Printing แห่งแรกของไทย เช่น โครงการ Co-working space ของ Café Amazon ที่ PTT Station พุทธมณฑลสาย 3 โดยใช้เทคโนโลยี 3D Concrete Printing ผลิตผนังอาคารและชิ้นส่วนของอาคาร แล้วนำมาประกอบติดตั้งที่หน้างาน ทำให้อาคารมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือ CPAC 3D Modular Space ที่เป็นอาคารนวัตกรรมสำเร็จรูป ขนาด 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 58 ตารางเมตร โดยใช้เทคโนโลยี 3D Printing ร่วมกับเทคโนโลยี Prefabricated Prefinished Volumetric Construction (PPVC) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

และล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2566  SCG สร้างศูนย์การแพทย์จังหวัดสระบุรี จากการพิมพ์คอนกรีตสามมิติแห่งแรกของโลกด้วยเครื่องพิมพ์ BOD2 จาก COBOD โดยศูนย์การแพทย์มีขนาด 345 ตร.ม. ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างด้วย 3D Printing ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

จากพัฒนาการของ เทคโนโลยี 3D Printing ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่จะนำมาใช้ในกระบวนการก่อสร้าง ภายใต้แนวคิดอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัย และผมเชื่อว่า เราจะได้เห็นการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ ใครจะเป็นเจ้าแรกเราก็ต้องจับตาดูกันต่อไปครับ สนใจรายละเอียด แวะเข้าไปชมกันที่ www.lws.co.th นะครับ

แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีครับ