การส่งออกไทยในเดือนส.ค. 67 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7.0%YoY สูงกว่า 6.0%YoY ที่ตลาดคาดการณ์ โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อย่าง Hard Disk Drive ซึ่งขยายตัวถึง 112.2%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ยุโรป นอกจากนี้ การส่งออกทองคำขยายตัวสูงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ 99.0%YoY ส่งผลให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดที่การส่งออกไทยมีอัตราขยายตัวสูงที่สุดในเดือนนี้ที่ 175.1%YoY นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร นำโดยข้าวและยางพารายังขยายตัวได้ดีจากความต้องการสินค้าและราคาที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่การส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบหดตัว -17.9%YoY ในเดือนส.ค.67 เนื่องจากผลของฐานที่สูงจากการส่งออกยานยนต์ที่นำเข้ามาในช่วงก่อนหน้าเพื่อการซ้อมรบในเดือนส.ค.66 นอกจากนี้ การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าไทยยังหดตัว -33.2%YoY จากเทคโนโลยีที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการภาพรวมส่งออกไทยปี 2567 ขยายตัว 2.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1.5% เนื่องจาก

  1. การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวสูงถึง 4.2%YoY หนุนโดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นตามรอบวัฎจักร และการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปที่ขยายตัวถึง 28.8%YoY
  2. แนวโน้มการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลก ตลอดจนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยกระดับขึ้น ส่งผลให้ราคาและความต้องการทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 2)
  3. แนวโน้มการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่ายังขยายตัวได้จากวัฏจักรที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น (รูปที่ 3) โดยข้อมูลการส่งออกเกาหลีใต้ 20 วันแรกของเดือน ก.ย. 67 ยังเติบโตได้ดี  โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ขยายตัวได้ถึง 26.2%YoY  

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะโตได้ต่ำกว่าช่วง 8 เดือนแรกตามทิศทางการค้าโลกที่ชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีค่าระวางเรือโดย Drewry ที่ปรับลดลงกว่า 30% ในรอบ 2 เดือน แม้ไตรมาสที่ 3 โดยปกติเป็นช่วง high season ของการค้าโลก รวมถึงยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วคาดว่าจะมีผลกระทบต่อสัดส่วนการทำกำไรของผู้ส่งออก (Margin) ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อยังขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงความยืดหยุ่นในการปรับราคาของแต่ละสินค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งมีระดับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน โดยผู้ส่งออกที่พึ่งพิงวัตถุดิบในประเทศเป็นหลักอาทิ  สินค้าเกษตร หรืออาหารแปรรูป จะได้รับผลกระทบต่อรายรับมากกว่ากลุ่มผู้ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก เนื่องจากไม่สามารถใช้กลไก Natural Hedge เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินได้