โดย นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ 

กรรมการผู้จัดการ  

บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด 
 

สวัสดีเดือนตุลาคม สมาชิก TerraBKK เป็นอย่างไรกันบางครับ ปีนี้น้ำมาเร็วจากปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเร็ว จนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างอุทกภัยทางภาคเหนือ และ ภาคอีสาน สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้ประสบภัยในหลายจังหวัด ตั่งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา และยังคงมีสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวังในเดือนตุลาคม  

เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก(Climate Change) ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงทั่วโลกเพิ่มขึ้นทุกปี จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้มีความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับภัยธรรมชาติเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด โดยองค์กรความร่วมมือของภูมิภาคทะเลเหนือของยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรจาก 5 ประเทศได้แก่  ประเทศเยอรมัน, เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ, เดนมาร์ก, และ เบลเยี่ยม ภายใต้ชื่อ FRAMES (Flood Resilient Areas by Multi-layEred Safety) มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดความปลอดภัยหลายชั้น หรือ MLS (Multi-Layer Safety) ประกอบด้วยหลักการ 4 ชั้นได้แก่ 

Layer1 - การป้องกันน้ำท่วม 

ชั้นแรกเป็นเรื่องของการ กันน้ำให้ห่างจากคนเพื่อป้องกันภัยพิบัติตั้งแต่แรก สำหรับพื้นที่ติดชายฝั่งแม่น้ำ หรือทะเล ที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่ง วิธีการป้องกันมักจะเป็นการสร้างกำแพง หรือสร้างพื้นที่กำบังน้ำเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าในพื้นที่พักอาศัย แต่ก็ทำให้วิถีชีวิตริมน้ำหายไป จึงเหมาะสมเฉพาะในบางพื้นที่  

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำ ทั้งยังสามารถนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าหรือใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งด้วย แต่ต้องแลกกับการสูญเสียพื้นที่ป่าขนาดใหญ่เพื่อใช้กักเก็บน้ำ ซึ่งมีผลต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศ มีต้นทุนสูง ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐให้ความร่วมมือในการลงทุนและซ่อมบำรุง 

Layer2 - การปรับตัวเชิงพื้นที่ 

มุ่งเน้นไปที่ การกันคนให้ห่างจากน้ำ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการออกแบบชุมชนหรือ Urban Design สำหรับพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เป็นสิ่งที่คนในชุมชนย่อมตระหนักดีว่าจะต้องเจอเหตุการณ์เดิมทุกปี ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน การออกแบบสถาปัตยกรรมจึงมักจะเป็นบ้านยกพื้นสูงมีใต้ถุน เพื่อให้พ้นจากระดับน้ำ หรือบ้านสองชั้น ที่ชั้นล่างเป็นโรงรถที่มีระบบประตูกันน้ำ เพื่อป้องกันยานพาหนะ 

ส่วนในทางภูมิสถาปัตยกรรม เป็นการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อรอระบายเมื่อมีปริมาณมากเกินไป และยังสามารถเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภคในช่วงที่น้ำแล้งได้ ผ่านการออกแบบพื้นที่สีเขียวหรือโครงสร้างในงานภูมิสภาปัตยกรรมเพื่อรวบรวมน้ำเข้ามาในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เช่น ลานกิจกรรม, ทางเดินในสวนสาธารณะ, สระน้ำหรือบ่อแก้มลิง เป็นต้น  

ตัวอย่างการออกแบบอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบสวนให้ด้านหนึ่งมีลักษณะลาดเอียงเพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ นอกจากนี้ พื้นที่ชุมน้ำ (Wetland) ด้านข้างของอุทยานยังสามารถรองรับน้ำฝนได้ด้วย บริเวณพื้นที่ดาดแข็งก็ใช้คอนกรีตรูพรุน หรือ Porous Concrete เพื่อให้น้ำซึมลงดินได้ รวมถึงสร้างทางระบายน้ำไร้ท่อที่มีพืชเล็ก ๆ คอยรองรับและดูดน้ำฝนที่เหลือบนพื้นเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งนอกจากนี้คนในชุมชนยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลน้ำได้ ด้วยการปั่นจักรยานเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งน้ำ ที่ออกแบบเป็น “กังหันน้ำชัยพัฒนา” หนึ่งในโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยบำบัดน้ำเสียอีกด้วย 

Layer3 - การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ลดผลกระทบจากน้ำท่วมผ่านระบบการจัดการที่ครอบคลุมเพียงพอโดยใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่การวางแผนในระดับชุมชนไปจนถึงหน่วยย่อยในแต่ละครอบครัว จากแนวทาง MLS ดังกล่าว ทางโครงการได้จัดทำระบบสนับสนุนการตัดสินใจให้หน่วยงานภาครัฐ จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงจากอุทกภัย 

ตัวอย่างการจำลองน้ำท่วมในจังหวัดเซลันด์ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ FRAMES ของ EU Interreg ได้ทำการจำลองเมืองในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน อุโมงค์ และทางรถไฟ โครงการนำร่องผลิตแผนที่ความเสี่ยงและออกแบบแอปแจ้งเตือนภัยคุกคามน้ำท่วม อ้างอิงจากตำแหน่งของผู้ใช้ แอปจะแจ้งพวกเขาเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงความเป็นไปได้ในการอพยพหรือหาที่พักพิง เป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบ 

Layer4 - การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

เป็นขั้นตอนการปฏิบัติเตรียมพื้นที่จริง ต่อจาก Layer 3 คือ การประเมินความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชน ซึ่งเป็นการประเมินว่าชุมชนอยู่ในตำแหน่งที่ดีเพียงใด ช่วยระบุโอกาสในการเตรียมความพร้อม รับมือ และฟื้นฟูจากอุทกภัย ผ่านเครื่องมือด้านนโยบายและกฏระเบียบ รวมถึงแผนที่ครอบคลุม แผนบรรเทาอันตราย ประมวลกฏหมายและระเบียบการใช้ที่ดินในท้องถิ่น เช่น การอนุรักษ์พื้นที่ในทางเดินแม่น้ำ, ปลูกพืชที่สามารถทนต่อน้ำท่วมได้, กำหนดระดับความสูงของน้ำท่วมฐาน เพื่อให้อาคารที่อยู่ในเขตน้ำท่วมยกพื้นให้สูงกว่าระดับนั้น เป็นต้น นอกจากนี้คนในชุมชนเองยังต้องมีความรู้ในเส้นทางอพยพ จุดนัดพบที่ปลอดภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วที่สุด 

หลักการ MLS ยังคงใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของการรับมืออุทกภัย ในพื้นที่โครงการนำร่องหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานกับการวางแผนระยะยาว รวมถึงมาตรการจากแต่ละขั้นตอนทั้งสี่ชั้น ทำให้การวางแผนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นการพยายามรวมมาตรการ ที่ไม่ใช่แค่การป้องกัน แต่ยังรวมถึงการวางแผนการใช้ที่ดิน และคิดถึงจุดที่การฟื้นตัวเหมาะสม 

จากแนวทางทั้ง 4 Layer เป็นหลักการสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในประเทศไทย จากผลการศึกษาของ SEI (Stockholm Environment Institute) สถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรระดับนานาชาติที่รับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เผยแพร่บทความรายงานประจำปี 2023 เมื่อเดือน พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ถึงข้อสรุปจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย ดังนี้ 

  1. ต้องการระบบเตือนน้ำท่วมที่ดีขึ้น 

ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเดิมไม่เพียงพอที่จะรับมือกับน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาไซเรนมาช้าเกินไป ฝนตกหนักหลายวันทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ความรุนแรงและฉับพลันของน้ำที่ท่วมสูงเกินกว่าระบบเตือนภัยล่วงหน้า น้ำท่วมในตัวเมืองอำเภอแม่สาย ทำลายบ้านเรือนและตลาดหลักเมือง สร้างความเสียหายราวครึ่งล้านเหรียญสหรัฐ 

การประเมินที่ SEI พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในที่สุดก็นำไปสู่การปรับปรุงการคาดการณ์สำหรับภูมิภาค ไซเรนเตือนล่วงหน้าได้รับการเสริมด้วยแอปที่พัฒนาขึ้นด้วยอินพุตของนักวิจัย SEI แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงน้ำท่วมในภูมิภาค 

  1. การสร้างแบบจำลองเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ 

โครงการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดทำรายงานให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เศรษฐกิจ สังคม และความร่วมมือข้ามพรมแดนในภูมิภาค ทีมวิจัยช่วยเทศบาลแม่สายระบุจุดติดตั้งสถานีไฮโดรเมตใน 5 แอ่งน้ำ เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำ นายกเทศมนตรีแม่สายเน้นย้ำว่าความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบอุทกภัยที่มากขึ้นจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอุทกภัยได้ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสองฝั่งชายแดนไทย-เมียนมามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ 

  1. แอพเตือนภัยที่ดีขึ้นสำหรับน้ำท่วมฉับพลันและภัยแล้ง 

แอปพลิเคชัน Usurapong ให้ข้อมูลสภาพอากาศและระดับน้ำเฉพาะพื้นที่ พร้อมคำแนะนำจากหน่วยงานภาครัฐและผู้สื่อข่าว ทั้งภาษาไทยและพม่า โดยอ้างอิงข้อมูลจากประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 1,000 ครั้ง นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2022 แอปพลิเคชันนี้เป็นหนึ่งในแนวทางหลักในการปรับปรุงการรับมืออุทกภัย โดยมีการปรับปรุงความถูกต้องของการเตือนภัยและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติ 

  1. การทำงานเพื่อความยืดหยุ่นในอนาคต 

แอปและระบบเตือนภัยล่วงหน้าสามารถช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันได้ แต่จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ นักวิจัยของ SEI ได้จัดเตรียมแบบจำลองทางอุทกวิทยาสำหรับระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการจัดการน้ำ ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแผนการจัดการน้ำและน้ำท่วมอย่างเป็นทางการ ทีมงานวางแผนที่จะทำสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของชุมชนต่อน้ำท่วมในอนาคต  

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในวงกว้างของ SEI ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปีนี้ระบบต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ได้ ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด ซึ่งหวังว่าการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะช่วยพัฒนาระบบที่ช่วยให้พี่น้องชาวไทย ต่อสู้กับอุทกภัยที่อาจจะรุนแรงขึ้นทุกปี ได้อย่างปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น 

ถึงแม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติได้ แต่การเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ จะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งผมมองว่าปัจจุบันเทคโนโลยี ได้มีการพัฒนาไปในระดับที่สามารถเตือนภัย และ ช่วยบรรเทาความเสียหายได้เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน 

ขอให้ทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปกันได้นะครับแล้วพบกันเดือนพฤศจิกายนครับ 

สวัสดีครับ