ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 26,182.3  ขยายตัวร้อยละ 7.0 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 939,521 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.0 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 6.6) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 941,019 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2567 เกินดุลเท่ากับ 264.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 1,497 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – สิงหาคม ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.2 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,068,821 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - สิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 4.3)

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 203,543.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.0 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,378,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,351.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 309,432 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตไม่น้อยกว่า 1-2% (ณ ตุลาคม 2567) โดยแนวโน้มการส่งออกช่วง 4 เดือนสุดท้าย ปี 2567 ยังมีแต่ปัจจัยลบที่เป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว 12% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันไทยลดลงขณะที่ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

โดยปัญหาเงินบาทแข็งค่าและผันผวนรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากมีเงินไหลเข้ายังตลาดทุนไทยต่อเนื่อง ดังนั้นอยากขอให้แบงก์ชาติเข้าไปดูแลโดยอาจออกมาตรการตรวจสอบนักลงทุนที่จะเข้ามาทำธุรกิกรรมในไทย และทั้งการเข้ามาของรายย่อย โดยอาจจะกำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตน นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจะต้องนำมาตรการอื่นๆ มาใช้ เช่น การใช้สกุลท้องถิ่นในภูมิภาคซื้อขายสินค้าระหว่างกันแทนสกุลเงินดอลลาร์ เป็นต้น

ซึ่งปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและแรง มีส่วนทำให้ไทยมีโอกาสขาดดุลการค้ามากขึ้น เพราะจะมีการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่มีราคาถูกเข้ามามากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบรับเงินน้อยลง เป้นอีกสาเหตุให้อุตสาหกรรมอาจย้านฐานการผลิตจากไทยไปยังภูมิภาคใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

อย่างไรก็ดีสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐ โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้ง สนับสนุนเครื่องมือและค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การพิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากเกินไป และเร่งรัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางการค้าใหม่ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้านั้นๆ