ทีมบ้านลูกหมู จากสถาปัตย์จุฬาฯ โชว์ไอเดียสร้างสรรค์การออกแบบเพื่อโลกสีเขียว คว้ารางวัลใหญ่ “BIMobject Green Design Competition 2024”
จบลงอย่างน่าประทับใจสำหรับงาน “BIMobject Green Design Competition 2024” เวทีการแข่งขันที่รวมพลังของคนรุ่นใหม่มาร่วมกันเปลี่ยนอนาคตด้วยการออกแบบรักษ์โลก โดย CPAC และ BIMobject Thailand ร่วมกันจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Unlock the Future Design with Greenovation” โดยการแข่งขันนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาจากทั่วประเทศมาโชว์ไอเดียสุดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยี BIM และ 3D Printing มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์อาคารรักษ์โลกให้มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของชุมชนและสังคมโดยรอบอย่างยั่งยืน
และในปีนี้ ทีมบ้านลูกหมู จากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่าฟันคู่แข่งทั่วประเทศจนได้รับรางวัลชนะเลิศมูลค่า 100,000 บาท ด้วยผลงานที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึง Greenovation ที่ตอบโจทย์อนาคตแล้ว ผลงานของทีมนี้ยังโดดเด่นด้วยการสร้างสรรค์อาคารที่มีความสอดคล้องกับการอนุรักษ์พลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอน และการออกแบบพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย นับเป็นโมเดลที่แสดงถึงความสามารถในการผสมผสานความยั่งยืนกับการออกแบบได้อย่างลงตัว
โดย ดร.วิลสา วิจิตรวาทการ Managing Director BIMobject Thailand กล่าวว่า "โจทย์ของเราปีนี้นับว่าไม่ใช่ เรื่องง่ายเลย ซึ่งน้องๆ ทุกทีมก็สามารถนำเสนอผลงานได้อย่างน่าประทับใจมาก และน่าทึ่งจนถึงขั้นที่เรานำผลงานของ 10 ทีมสุดท้ายไปนำเสนอยังเวทีระดับโลกที่ซานดิเอโก้ และนี่คือความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของเรา และต้องขอขอบคุณนักศึกษาทุกทีมที่ทุ่มเททั้งเวลาและความคิดสร้างสรรค์การออกแบบผลงาน ถึงแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่ ท้าทายอย่าง 3D Printing ที่ยังไม่ใช่หลักสูตรพื้นฐานในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งหวังว่าน้องๆ จะได้แรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จากกิจกรรมครั้งนี้”
ด้าน นางสาวกัลยา วรุณโณ Green Solution and New Business Marketing Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า “ปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องรับมือ การแข่งขัน ‘BIMobject Green Design Competition 2024’ ครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่ทุกคนได้แสดงพลังสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งเราได้เห็นทีมต่างๆ นำเทคโนโลยี BIM และ 3D Printing มาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าประทับใจ งานนี้ไม่เพียงแค่ช่วยลดขยะในการก่อสร้าง แต่ยังลดการปล่อยคาร์บอนและเปลี่ยน Waste ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย ซึ่ง SCG และ CPAC ก็มุ่งมั่นเรื่องนี้เช่นกัน ซีเมนต์ของเราถูกพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนช่วยกันทำให้การออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นจริง ซึ่งไม่เพียงเป็นก้าวแรกแต่ยังเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน ดิฉันขอขอบคุณน้องๆ ทุกคนที่ทุ่มเทให้กับการแข่งขันครั้งนี้ และขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการที่มอบทั้งเวลาและความรู้ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ด้วย”
นายภูมิพัฒน์ เตชะลิขิตกุล ตัวแทนทีมบ้านลูกหมู จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลชนะเลิศการประกวดฯ บอกว่า "พวกเราดีใจและภูมิใจมากๆ กับโจทย์ที่ได้รับในการแข่งขันครั้งนี้นับว่าเป็นความท้าทายที่พวกเราต้อง ร่วมมือกัน และการแข่งขันครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการออกแบบที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างโลกที่ยั่งยืน สำหรับแนวคิดของผลงาน ‘บ้านลูกหมู’ เราได้นำเสนอ 3 คอนเซ็ปต์หลัก ได้แก่ การอนุรักษ์ความเป็นไทย การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบโครงสร้างที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการใช้งานในอนาคตของผู้ที่อยู่อาศัย โดยการนำความสามารถของ 3D Printing มาใช้ในการทำโครงสร้างอาคาร ไม่ใช่แค่การทำให้สวยงาม หรือการอยู่อาศัยในระยะยาวแต่เป็นการอยู่อย่างยั่งยืนด้วย”
นางสาวสุธิตรา สตราศรรี ตัวแทนทีม BACON จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รางวัลรองอันดับ 1 บอกว่า “การแข่งขันในครั้งนี้ไม่เพียงแค่ทำให้เราพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยี BIM และ 3D Printing แต่ยังช่วยให้เราคิดและออกแบบสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนในระยะยาวได้จริง โดยแนวคิดของผลงานเราคือการ 'ดักขยะด้วยสถาปัตยกรรม' ที่ตอบโจทย์ปัญหาขยะในชุมชน ซึ่งขยะเหล่านี้มีผลกระทบทั้งต่อคุณภาพน้ำและสุขอนามัย ของคนในชุมชน อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ด้วย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างโครงการที่สามารถดักจับขยะก่อนที่มัน จะไหลลงสู่แหล่งน้ำสำคัญ ซึ่งจะช่วยรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำและส่งเสริมการตระหนักรู้ให้แก่คนในชุมชนเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมค่ะ"
โดยการประกวด BIMobject Green Design Competition 2024 ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ตัดสินประกอบด้วย คุณเกศินี วัฒนะวีระชัย เลขาธิการสมาคม TBIM, คุณธาริณี กฤติยาดิศัย 3D Printing Project Management Manager, คุณไพทยา ปัญชากิติคุณ Managing Director Atom Design, คุณธงชาติ ชินสีห์ Managing Director Hook Architects & Goodwill of Work Company Limited, คุณบัณฑา พงษ์พรต Associate Partner and Head of Integrated Research and Innovations (IRIs) Architect 49 Limited และ คุณพชร เรือนทองดี Digital Fabricator Director DesireSynthesis
ซึ่งรางวัลการแข่งขันแบ่งออกเป็น
- รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 100,000 บาท, Hafele Gift Voucher มูลค่า 50,000 บาท และ Synergysoft Education voucher มูลค่า 40,000 บาท ได้แก่ ทีมบ้านลูกหมู จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลรองอันดับ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท, Hafele Gift Voucher มูลค่า 20,000 บาท และ Synergysoft Education voucher มูลค่า 20,000 บาท ได้แก่ ทีม BACON จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- รางวัลรองอันดับ 2 รับเงินรางวัล 30,000 บาท, Hafele Gift Voucher มูลค่า 10,000 บาท และ Synergysoft Education voucher มูลค่า 10,000 บาท ได้แก่ ทีม DEK DOI FAI จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลชมเชย เงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท ได้แก่ ทีม Samkok Team จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ทีม 101 จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ทีม Riverline จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ, ทีมอิทธิพล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ทีมจรุก จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ทีม 3 route teeruk จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ทีมหนอนไหม จากมหาวิทยาลัยพะเยา
- รางวัล Popular Vote เงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท ได้แก่ ทีมหนอนไหม จากมหาวิทยาลัยพะเยา
สำหรับการประกวด BIMobject Green Design Competition นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้กับวงการการศึกษาและอุตสาหกรรมการออกแบบอาคาร โดยส่งเสริมให้นิสิตและนักศึกษาได้คิดนอกกรอบและเตรียมพร้อมสำหรับการนำเสนอผลงานการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนของโลก