ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ทั่วโลกต้องเร่งหาทางแก้ไข หลายประเทศทั่วโลกได้นำระบบ Taxonomy มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นการกำหนดมาตรฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจยั่งยืนที่ชัดเจน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยได้มีการเผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์แล้วในปี 2023 ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและภาคขนส่งที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 67% ของประเทศ[1]

สำหรับ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จะครอบคลุมเพิ่มอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่

1) ภาคเกษตร
2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

3) ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์

และ 4) ภาคการจัดการของเสีย

ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะและคาดว่าจะเผยแพร่ในปี 2025 โดยยังคงมุ่งเน้นวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งนี้ แม้ว่า Thailand Taxonomy ไม่ใช่กฎหมายหรือข้อบังคับแต่นับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน จะใช้เป็นกลไกสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

บทความฉบับนี้ Krungthai COMPASS จึงอยากชวนผู้อ่านมาเตรียมความพร้อมสำหรับ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 โดยจะฉายภาพถึงการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจ ขอบเขต และเกณฑ์ชี้วัดของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งนำเสนอการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการไทย ภาครัฐ และภาคการเงิน

ทำความรู้จักกับ Thailand Taxonomy และความคืบหน้าของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2

Taxonomy คือ มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระดับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ระดับตามระบบไฟสัญญาณจราจร (Traffic light system) ได้แก่

  • สีเขียว (Green) หมายถึง กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ หรือมีเส้นทางที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์
  • สีเหลือง (Amber) หมายถึง กิจกรรมที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition) หรือกิจกรรมที่ยังไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่สามารถปรับปรุงได้ด้วยการกำหนดแนวทางในการลดคาร์บอน (Decarbonization pathway) และจะต้องผ่านเกณฑ์ชี้วัดในช่วงกรอบเวลาที่ชัดเจน อีกทั้งมีการกำหนดจุดสิ้นสุดของกิจกรรมที่ต้องปรับตัว (Sunset date) โดยหลังจากปี 2040 กิจกรรมสีเหลืองทั้งหมดจะถูกประเมินตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับสีเขียวเท่านั้น ยกเว้นภาคการจัดการของเสียที่มีจุดสิ้นสุดของกิจกรรมที่ต้องปรับตัวในปี 2029 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2021-2030
  • สีแดง (Red) หมายถึง กิจกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งหลังจากวันสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่านในปี 2040 หรือ ปี 2029 เฉพาะในภาคการจัดการของเสีย กิจกรรมดังกล่าวจะต้องยุติลง (Phased out) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

Thailand Taxonomy ยังมี 2 หลักการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน คือ 1) การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) เป็นแนวทางในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหนึ่งจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเป้าหมายของวัตถุประสงค์อื่นอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เช่น การดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น รวมทั้งไม่สร้างผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมและเศรษฐกิจ และ 2) การคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards) เป็นแนวทางในการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการดำเนินการตามกรอบกฎเกณฑ์และนโยบายของไทย รวมถึงหลักกติกาที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล และมีระบบการจัดการทางสังคมรองรับ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและมนุษยชน โดยมาตรฐานและกฎระเบียบขั้นต่ำที่ผู้ดำเนินกิจกรรมควรพิจารณา เช่น อนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสนธิสัญญาตราสารระหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น โดยทั้ง 2 หลักการนี้ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ เช่น EU Taxonomy และ UK Green Taxonomy เป็นต้น

ทั้งนี้ กิจกรรมที่มีการดำเนินงานเป็นไปตามข้อกำหนดของเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองแล้ว กิจกรรมดังกล่าวจะได้รับพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักการ Do No Significant Harm และ  Minimum Social Safeguards หรือมีการยื่นแผนการปรับปรุงการดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับ 2 หลักการดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี หลังจากการประเมินผล มิเช่นนั้นกิจกรรมดังกล่าวจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองและถูกจัดไปอยู่ในกิจกรรมสีแดง

ปัจจุบัน Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 อยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2024 ถึง 10 มกราคม 2025 และคาดว่าจะเผยแพร่ฉบับสมบูรณ์ในปี 2025 โดยครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) ภาคการเกษตร 2) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 3) ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และ 4) ภาคการจัดการของเสีย โดยเมื่อรวมกับภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในขอบเขตของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 อย่างภาคพลังงานและภาคขนส่งแล้ว จะครอบคลุมกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมากถึง 355 MtCO2eq หรือคิดเป็น 95% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยต่อปี ทั้งนี้ กิจกรรมที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย โดยกิจกรรมในภาคเกษตรมีมูลค่า GDP ครอบคลุมกว่า 91% ของมูลค่า GDP ทั้งหมดในภาคเกษตร รองลงมาคือกิจกรรมในภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งครอบคลุม 39% และ 23% ตามลำดับ

ภายใต้ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 สำหรับรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ (ณ ตุลาคม 2024) ได้กำหนดขอบเขตของกิจกรรมและเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของ 4 ภาคเศรษฐกิจแล้ว ได้แก่ ภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต อาคารและอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการของเสีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ภาคเกษตร ครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่การเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืชผลและปศุสัตว์ เช่น การปลูกข้าว การปลูกพืชยืนต้นและไม่ยืนต้น การเลี้ยงปศุสัตว์ การกำจัดของเสีย การใช้ปุ๋ย การกำจัดศัตรูพืช รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ เช่น การครอบครองและจัดการป่าไม้ แต่ไม่ครอบคลุมถึงกิจกรรมหลังจากการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ อาทิ การแปรรูป การจำหน่าย การบรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง เป็นต้น สำหรับเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของกิจกรรมที่อยู่ในภาคเกษตรไม่ได้มีการกำหนดในเชิงปริมาณที่ชัดเจน เพียงแต่มีการกำหนดให้ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการทำการเกษตรและปศุสัตว์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะต้องเป็นแนวทางที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลักการ Do No Significant Harm และ Minimum Social Safeguards รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของ Taxonomy อย่างน้อยหนึ่งข้อ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคเกษตรของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อยซึ่งมีข้อจำกัดในการปรับตัว การกำหนดเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปจึงอาจทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก

2. ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ครอบคลุมหลากหลายกิจกรรมการผลิตที่มีการปล่อย CO2 ระดับสูง คือ 1) การผลิตปูนซีเมนต์ ครอบคลุมตั้งแต่การทำเหมืองหินปูนจนถึงขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์ผสมขั้นสุดท้าย 2) การผลิตสารเคมี ครอบคลุมเฉพาะกระบวนการผลิตสารเคมีพื้นฐาน และ 3) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ จนถึงผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้าย นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการผลิตอื่นๆ อีก เช่น การผลิตอะลูมิเนียม แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เป็นต้น โดยเกณฑ์ชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของกิจกรรมที่อยู่ในภาคการผลิตโดยรวมแล้วจะเกี่ยวข้องกับปริมาณการปล่อย CO2 การปล่อยมลพิษ รวมถึงการเลือกใช้แหล่งเชื้อเพลิง ซึ่งโดยรายละเอียดมีความแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรมการผลิต

3. ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุม 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การก่อสร้างอาคารใหม่ ทั้งอาคารเพื่ออยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ 2) การปรับปรุงบูรณะเดิมที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร 3) การติดตั้ง บำรุง ซ่อมแซม อุปกรณ์อาคารเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ รวมทั้งระบบเตือนภัยเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ 4) การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและการเตรียมพื้นที่ โดยไม่ครอบคลุมถึงอาคารที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก คอนกรีต พลาสติก ซึ่งอยู่ภายใต้เกณฑ์ของภาคการผลิตในข้อ 2 แล้ว ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์สีเขียวในกิจกรรมการก่อสร้างและการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร จะอ้างอิงตามการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวระดับนานาชาติ เช่น LEED EDGE และ TREES เป็นต้น โดยไม่ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้าง ส่วนเกณฑ์สีเขียวสำหรับกิจกรรมการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนและจัดการของเสียที่เกิดจากการรื้อถอนเป็นหลัก

4. ภาคการจัดการของเสีย ครอบคลุม 13 กิจกรรมการจัดการของเสียทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ 1) ขยะมูลฝอย 2) ขยะอาหาร 3) ขยะพลาสติก 4) ของเสียอันตราย รวมถึงเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและเล็กทรอนิกส์ 5) ของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมตั้งแต่จุดปล่อยหลังจากผ่านแหล่งกำเนิดของเสียต่างๆ การคัดแยก รวบรวม จนถึงการบำบัดและกำจัด และ 6) น้ำเสีย ครอบคลุมการบำบัดน้ำเสียแบบกระจายศูนย์ และการบำบัดน้ำเสียแบบรวมศูนย์ สำหรับเกณฑ์สีเขียวของแต่ละกิจกรรมในภาคการกำจัดของเสีย ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของการประเมินทางเทคนิค (TSC) ของวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม อย่างน้อย 1 ข้อในแต่ละวัตถุประสงค

ความท้าทายของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานกิจกรรมสีเขียว

แม้ Thailand Taxonomy จะถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่การปรับตัวให้สอดรับกับแนวทางนี้ ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะ

1. เทคโนโลยีที่ยังไม่แพร่หลายมีราคาแพง ทำให้การลงทุนเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมยังมีข้อจำกัด ตัวอย่างจากการศึกษาของ McKinsey (2022) [2]ระบุว่า แม้กว่า 85% ของก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องลดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 สามารถทำได้โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาแล้วในปัจจุบัน แต่ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลายและมีต้นทุนที่ถูกลง โดยการศึกษาดังกล่าวประเมินว่าในปี 2050 การผลิตซีเมนต์และเหล็กที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 30-45% เมื่อเทียบกับปี 2020 ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ทั่วโลกสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ปี 2050[3]

2. ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบได้อย่างเต็มที่และอาจขาดแหล่งเงินทุนที่เอื้อต่อการลงทุนด้านความยั่งยืน โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ธุรกิจ SME ของไทยยังคงพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากนอกระบบในสัดส่วนที่สูงและมีการใช้แหล่งเงินทุนในระบบเพียง 55% ของเงินกู้ทั้งหมด[4]

3. ข้อจำกัดด้านองค์ความรู้ เนื่องจากการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาประยุกต์ใช้ต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะทาง การวางแผน และการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ประกอบการบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารธุรกิจรวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ความท้าทายในการปรับตัวของผู้ประกอบการแต่ละกิจกรรมหลักภายใต้ขอบเขตของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จากการพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 2) สัดส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย และ 3) ต้นทุนในการลงทุนเทคโนโลยีหรือโครงการต่างๆ เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสะท้อนถึงระดับความท้าทายที่เผชิญ รวมทั้งยังสะท้อนศักยภาพและข้อจำกัดในการปรับตัวของภาคธุรกิจในแต่ละกิจกรรม โดยทำการวิเคราะห์ใน 3 ภาคเศรษฐกิจหลักอย่างภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยกิจกรรมการปลูกข้าว ปศุสัตว์ การปลูกพืชยืนต้นและไม่ยืนต้น การผลิตซีเมนต์ การผลิตสารเคมี การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงอาคารและอสังหาริมทรัพย์

การปลูกข้าว อาคารและอสังหาริมทรัพย์ และการผลิตซีเมนต์ เป็นกลุ่มที่มีความท้าทายสูงสุดในการเปลี่ยนผ่านให้สอดคล้องกับแนวทางของ Thailand Taxonomy โดยเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง รวมกันกว่า 69 MtCO2eq/ปี คิดเป็นราว 19% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยในแต่ละปี ทั้งนี้ แม้การปลูกข้าว อาคารและอสังหาริมทรัพย์ และการผลิตซีเมนต์เป็นกลุ่มที่มีความท้าทายสูงเช่นเดียวกัน แต่ทั้ง 3 กิจกรรมก็มีปัจจัยท้าทายทางแตกต่างกัน กล่าวคือ การปลูกข้าว แม้จะมีต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ แต่ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดเป็นรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว ทั้งการเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็น ทั้งเทคโนโลยี และเงินทุน ทำให้การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับการผลิตซีเมนต์ ความท้าทายของผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะอยู่ที่การปรับปรุงกระบวนการผลิตและการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญและเงินลงทุนสูง

ขณะที่ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์มีความท้าทายจากทั้ง 2 ปัจจัยในระดับที่รองลงมา ทั้งนี้ หากมองในมุมของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ยังอาจมีต้นทุนจากค่าเสียโอกาสจากการสูญเสียเวลาและโอกาสในการพัฒนาโครงการใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่ต้องคำนึงถึง

กิจกรรมปศุสัตว์ การปลูกพืชยืนต้นและไม่ยืนต้น เป็นกลุ่มที่มีความท้าทายรองลงมา จากปัจจัยหลักคือการมีสัดส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยสูง ถึง 93-95% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในทุกมิติในลำดับที่รองลงมา ทั้งนี้ กิจกรรมปศุสัตว์และการปลูกพืชยืนต้นและไม่ยืนต้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ไม่สูงนัก อยู่ในช่วง 13,000-14,000 MtCO2eq/ปี คิดเป็นราว 4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยในแต่ละปี และมีต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ

กิจกรรมการผลิตสารเคมีและการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความท้าทายที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ แต่ยังมีปัจจัยท้าทายหลักจากต้นทุนในการลงทุนที่สูง โดย 2 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้งานผลิตภัณฑ์ในระดับสูง โดยเฉพาะการผลิตเหล็กของไทยที่ใช้กระบวนการผลิตแบบเตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace - EAF) จากการใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบแทนแร่เหล็กและถ่านโค้ก ซึ่งจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า นอกจากนี้ ทั้ง 2 กิจกรรมยังมีสัดส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งความท้าทายหลักของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ คือการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญและเงินลงทุนสูง เช่นเดียวกันกับการผลิตซีเมนต์

Krungthai COMPASS แนะนำภาคส่วนต่างๆ เตรียมพร้อมสู่กิจกรรมสีเขียวตามแนวทางของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ดังนี้

1. ผู้ประกอบการ

แนะนำให้ผู้ประกอบการเริ่มจัดทำข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองเป็นลำดับแรก เพื่อตรวจสอบว่าธุรกิจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ระดับใดและต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านของกิจกรรมสีเขียวตาม Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถศึกษาแนวทางได้จากเอกสารแนวทางการติดตามผลและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ที่จัดทำโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือสามารถติดต่อ อบก. เพื่อขอคำปรึกษาโดยตรง ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มีข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการในภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

ภาคเกษตร

  • ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรรายย่อยสามารถเริ่มต้นปรับตัวจากแนวทางปฏิบัติในระดับเบื้องต้นก่อน เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การทำให้มูลสัตว์แห้งด้วยการตากแห้ง ซึ่งจะช่วยลดการเกิดมีเทน การปลูกข้าวควรปรับเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งที่ราบลุ่มชลประทาน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30-70% อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น ลดการใช้น้ำและปุ๋ย เป็นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตไปในคราวเดียวกัน
  • ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมอยู่แล้วอาจพิจารณานำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ เช่น IoT (Internet of thing) โดรน และระบบดาวเทียม มาใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อตรวจสอบสภาพดิน น้ำ และพืชผล เพื่อให้การทำเกษตรแม่นยำขึ้นและลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

  • เร่งศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการใช้เทคโนโลยี CCS เพื่อดักจับ CO2 ที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการเผาปูนเม็ด การผลิตไฮโดรเจนในประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นได้พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
  • หาแนวทางที่จะปรับจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ชี้วัดสีเขียว เช่น พลังงานไฮโดรเจน พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว พลังงานมวลชีวภาพ พลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์ เป็นต้น

ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์

  • ออกแบบและปรับปรุงอาคารตามมาตรฐานอาคารสีเขียว เช่น LEED หรือTREES ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นอาคารสีเขียวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยีในต่างประเทศ เพื่อปรับใช้ในการออกแบบการใช้ทรัพยากรของตัวอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การออกแบบที่เน้นการใช้แสงธรรมชาติในเวลากลางวันเพื่อประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยลดการใช้พลังงาน ซึ่งจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ นอกจากนี้ ในมุมผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน การออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานยังเป็นการดึงดูดลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยหรือสำนักงานที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนพร้อมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายอย่างค่าไฟฟ้าและค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ
  • มีแผนการในการจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดการของเสียและการนำวัสดุก่อสร้างที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การนำอิฐและหินกลับมาใช้เป็นวัสดุถมในโครงการก่อสร้างอื่นๆ การนำไม้จากโครงสร้างอาคารไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

2. ภาครัฐ

ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่กิจกรรมสีเขียวด้วยมาตรการที่ช่วยลดอุปสรรคและสร้างแรงจูงใจในการปรับตัว โดยอาจพิจารณามาตรการสนับสนุนให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทและขนาดธุรกิจ ซึ่งเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายที่แตกต่างกัน เช่น ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีสีเขียวที่มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และให้การสนับสนุนกลุ่มเปราะบางอย่าง SME ในทุกมิติตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ สนับสนุนเงินทุนและเทคโนโลยี โดยหน่วยงานค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐ อย่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) [5]มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับโครงการสีเขียว เช่น สร้างผลิตภัณฑ์ค้ำประกันเฉพาะสำหรับโครงการสีเขียว เพื่อเป็นการจูงใจผู้ประกอบการและช่วยลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มีข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับภาครัฐในการสนับสนุนภาคเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้

ภาคเกษตร

  • สร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในภาคการเกษตร ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นรายย่อย ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากเพิกเฉยต่อแนวทางของ Thailand Taxonomy เช่น เสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอนาคต หรือการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสินค้าที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสูง
  • มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่เงินทุน การให้ความรู้ คำปรึกษา และการสนับสนุนการรวมกลุ่มให้กับผู้ประกอบการในภาคเกษตรซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นรายย่อย เช่น จัดตั้งกองทุนให้เงินสนับสนุนหรือการค้ำประกันเงินกู้ กำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่ความยั่งยืน สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันการใช้ทรัพยากร รวมทั้งเทคโนโลยี เป็นต้น

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

  • ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงานและตั้งมาตรฐานด้านการใช้พลังงานต่ำในกระบวนการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเริ่มจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมก่อนและอาจมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนและมาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจ
  • เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ด้วยการขยายการผลิตพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล และไฮโดรเจน ให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ในภาคการผลิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอนาคต
  • สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและเร่งการเปลี่ยนผ่านในภาคการผลิตของไทย

ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์

  • กำหนดมาตรฐานด้านการใช้พลังงานในอาคาร เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กำหนดให้อาคารต้องใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด หรือการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานต่อพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน โดยอาจมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนและมาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจ
  • กำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาอาคารสีเขียว เพื่อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่กิจกรรมสีเขียวในภาคการก่อสร้างและอสังหาฯ โดยอาจกำหนดให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ เป็นพื้นที่นำร่องในระยะแรก
  • มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่เงินทุนและการให้ความรู้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ เช่น จัดตั้งกองทุนให้เงินสนับสนุนหรือการค้ำประกันเงินกู้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จัดทำคู่มือในการออกแบบและปรับปรุงไปสู่อาคารสีเขียวของอาคารแต่ละประเภทและขนาด เป็นต้น

3. ภาคการเงิน

ภาคการเงินสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่กิจกรรมสีเขียว ผ่านการเป็นที่ปรึกษาในการลงทุนและนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเครื่องจักรประหยัดพลังงานสำหรับภาคการผลิต หรือสินเชื่อสำหรับโครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เป็นต้น สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการเงินสามารถเสนอทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Bond) เพื่อช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจและดึงดูดนักลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้ สำหรับภาคเกษตรที่ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดสีเขียวที่ชัดเจน สถาบันการเงินอาจพิจารณากำหนดเกณฑ์การชี้วัดกิจกรรมสีเขียวของตนเอง สำหรับการนำไปใช้ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ และช่วยให้สามารถประเมินและตรวจสอบว่าธุรกิจขอสินเชื่อนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งจะลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อ


[1] จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2019 อ้างอิงจากรายงาน Thailand Fourth Biennial Update Report

[2] The net-zero transition: What it would cost, what it could bring (McKensey, 2022)

[3] Net Zero 2050 Scenario ที่กำหนดโดย Network for Greening the Financial System (NGFS) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินจากทั่วโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

[4] รายงานสถานการณ์ด้านหนี้สินของ MSME ไตรมาส 2 ปี 2024

[5] คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2025