ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  กล่าวว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม 2567 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 27,222.1 ขยายตัวร้อยละ 14.6 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 896,735 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 10.7 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 934,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 794.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลในรูปของเงินบาท 37,965 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – ตุลาคม ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 250,398.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,854,630 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - ตุลาคม ขยายตัวร้อยละ 4.8) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 257,149.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.6 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,199,289 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,751.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 344,659 ล้านบาท

สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตร้อยละ 4 และประมาณการณ์ปี 2568 เติบโตร้อย 1-3 (ณ ธันวาคม 2567) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 1.1) ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและนโยบายอื่นของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้า 1.2) สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และ รัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ 2) Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ แม้จะมีอุปสงค์ระยะสั้นในการนำเข้าในช่วงเทศกาลสำคัญ และวัฎจักรขาขึ้นของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3) ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากความไม่แน่นอนของทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จากปัจจัยเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4) สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลปรับลดลงในเส้นทางสำคัญ แต่ยังมีความผันผวนจาก 4.1) การปรับขึ้นค่าใช้จ่าย อาทิ ค่า GRI (General Rate Increase) 4.2) การเจรจาปรับขึ้นค่าแรงในฝั่งตะวันออกของสหรัฐที่ยังไม่ยุติ และ 5) มาตรการทางการค้าที่เฝ้าระวัง อาทิ 5.1) การกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย 5.2) สหภาพยุโรปเลื่อนการบังคับใช้ EUDR ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) เร่งลดต้นทุนการทำธุรกิจให้กับผู้ส่งออก อาทิ 1.1) ต้นทุนการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และ 1.2) ต้นทุนการประกันความเสี่ยงการชำระเงินค่าสินค้า 2) เพิ่มงบประมาณและจำนวนความถี่ในการจัดส่งเสริมกิจกรรมการค้าทั้งในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและตลาดลำดับรอง และ 3) เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีในกรอบที่มีอยู่เดิม และเพิ่มการเจรจาในตลาดศักยภาพใหม่