• ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์มีแนวโน้มต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อไปอีกในปี 2568 โดยรายได้ของดีลเลอร์รถยนต์โดยภาพรวมทั้งตลาดคาดหดตัว 4.9%
  • นำโดยการหดตัวของรายได้จากการขาย 5.4% จากปัญหายอดขายรถยนต์ในประเทศที่คาดลดลงเหลือ 530,000 คันในปี 2568 โดยเฉพาะกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ที่คาดจะหดตัวสูงจากความเสี่ยงเรื่องกำลังซื้อมากกว่ารถยนต์นั่ง ขณะที่รถยนต์นั่งอาจพบการหดตัวของกลุ่มที่ใช้น้ำมันล้วน (ICE) ตรงข้ามกับกลุ่มรถยนต์นั่ง xEV ซึ่งประกอบไปด้วย รถยนต์นั่ง HEV, PHEV และ BEV[1] ที่มีทิศทางขยายตัว โดยในกลุ่มรถยนต์นั่ง BEV คาดว่ารถยนต์นั่งหรู BEV น่าจะขยายตัวสูงกว่าตลาด BEV รวม เพราะผู้ซื้อมีรายได้มั่นคง
  • ด้านรายได้จากการซ่อมบำรุงก็คาดว่าจะหดตัวที่ 1.2% หลังจำนวนรถยนต์ที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นลูกค้าหลักคาดทยอยลดลงจนเหลือ 8.89 ล้านคัน หลังยอดขายรถยนต์ในช่วงหลังเผชิญกับหลายวิกฤติ

ในปี 2567 ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ในไทยต้องเผชิญความยากลำบากตั้งแต่ต้นปี จากปัญหายอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศที่หดตัวสูงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นมากด้านราคา นำมาสู่ผลกระทบต่อทั้งรายได้จากการขายรถยนต์ของดีลเลอร์ที่ลดลง และต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังดีลเลอร์ต้องแบกสต๊อกรถยนต์ที่ยังขายไม่ได้และต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ จนสุดท้ายกลุ่มธุรกิจดีลเลอร์ที่มีสายป่านการเงินไม่มากพอต้องปิดกิจการไป ทำให้คาดว่าจำนวนดีลเลอร์รถยนต์ในปี 2567 จะลดลง 1.4%

ต่อเนื่องมาในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบตลาดรถยนต์ในประเทศน่าจะยังไม่คลี่คลาย เนื่องด้วยเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดการ ส่งผลให้ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ยังต้องเร่งปรับตัวต่อในหลายรูปแบบเพื่อหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจแม้จะไม่ง่าย ทั้งการหารายได้เพิ่มจากการซ่อมบำรุง และการขยายหรือเปลี่ยนไปทำดีลเลอร์ให้ค่ายรถยนต์อื่นที่ยอดขายยังไปได้

แนวโน้มรายได้ดีลเลอร์รถยนต์ปี 2568

รายได้รวมของดีลเลอร์รถยนต์ปี 2568 คาดปรับลดลง 4.9%

รายได้ดีลเลอร์โดยรวมหดตัวต่อจากปี 2567 ที่หดตัวสูงกว่า 32.4% (รูปที่ 2) จากปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน คือ (1) การหดตัวของรายได้จากการขาย 5.4% หลังยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคาดการณ์ว่าจะหดตัวต่อ และ (2) การหดตัวของรายได้จากการซ่อมบำรุงที่ 1.2% ตามจำนวนรถที่เข้าใช้บริการที่ลดลง

รายได้จากการขายที่ลดลงมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะลดลงต่อในปี 2568

ในปี 2568 คาดยอดขายรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มหดตัว 5.4% เหลือ 5.3 แสนคัน (รูปที่ 3) ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่หดตัว 27.8% หลังกำลังซื้อหดหายและหนี้เสียรถยนต์ยังสะสมในระดับสูง

กลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์คาดเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอาจหดตัว 6.8% ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง 38.4% นำโดยปิกอัพ ที่มีส่วนแบ่งถึง 85% ของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์รวม (รูปที่ 4) เนื่องจากผู้ซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายรับไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อการขออนุมัติสินเชื่อค่อนข้างมาก ซึ่งนั่นบ่งชี้ถึงโอกาสที่กลุ่มดีลเลอร์ที่เน้นจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะปิกอัพ มีโอกาสเสียรายได้จากการขายมากกว่ากลุ่มอื่น

กลุ่มรถยนต์นั่งหดตัวน้อยกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ที่ 4.4% ในปี 2568 สาเหตุจากยอดขายรถยนต์นั่ง ICE ที่คาดว่าจะปรับลดลงค่อนข้างมาก แม้จะมียอดขายของกลุ่มรถยนต์นั่ง xEV ที่ขยายตัวขึ้นมาช่วยพยุง จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์นั่ง xEV ขยับขึ้นมาสู่ระดับ 73% ของยอดขายรวมก็ตาม (รูปที่ 5)  โดยรถยนต์นั่งกลุ่ม xEV ที่ขยายตัวสูงสุด คือ รถยนต์นั่ง HEV ตามด้วยรถยนต์นั่ง PHEV ส่วนรถยนต์นั่ง BEV แม้จะเติบโตเช่นกันแต่ในอัตราที่น้อยกว่าที่ 2.9% เนื่องจากแม้การแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังมีประเด็นกังวลด้านการใช้งาน ราคาขายต่อมือสอง และสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่ง BEV ที่เป็นรถหรู พบมีโอกาสที่จะเติบโต 3.8% ในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าตลาดรถยนต์นั่ง BEV โดยรวม (รูปที่ 6) จากการแข่งขันราคาที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับผู้ซื้อเป็นกลุ่มรายได้มั่นคง จึงไม่ถูกกระทบจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเหมือน BEV ราคาต่ำกว่า

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อรถยนต์นั่ง xEV ดังกล่าวหลังการแข่งขันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้น ย่อมเป็นผลบวกกับรายได้จากการขายของดีลเลอร์ที่เน้นขายรถยนต์นั่ง xEV ซึ่งจะสวนทางกับดีลเลอร์รถยนต์นั่ง ICE ที่เจอปัญหาความนิยมตกลงมากทำให้รายได้จากการขายลดลงตาม ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับดีลเลอร์ที่ขายรถเพื่อการพาณิชย์เช่นกันที่กำลังเผชิญกับปัญหายอดขายตกต่ำอย่างหนัก

ระดับผลกระทบต่อรายได้จากการขายของแต่ละดีลเลอร์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งทิศทางความนิยมต่อรถยนต์ของค่ายในอนาคต โดยอาจมาจากแผนการเปิดตัวรถรุ่นใหม่รวมถึงโปรโมชั่น ทำเลที่ตั้ง และสายป่านทางการเงินของธุรกิจ อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อการรับมือในระดับที่ต่างกัน ตั้งแต่การหาช่องทางปรับเพิ่มรายได้จากการซ่อมบำรุง ไปสู่การย้ายไปทำตลาดให้ค่ายรถยนต์อื่น หรือในกรณีเลวร้าย คือ การออกจากธุรกิจ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการปรับตัวต่างๆเหล่านี้มาบ้างแล้ว และคาดว่าน่าจะมีให้เห็นต่อในปี 2568

รายได้จากการซ่อมบำรุงคาดหดตัวเช่นกันจากคาดการณ์จำนวนรถอายุไม่เกิน 10 ปีที่ลดลง

แม้การหาทางเพิ่มรายได้จากการซ่อมบำรุงเพื่อชดเชยกับการเสียรายได้จากการขายจะเป็นแนวทางแรกที่ดีลเลอร์เร่งปรับตัวทำ แต่ก็คาดว่าผลที่ได้อาจไม่มากอย่างที่หวัง เมื่อปี 2568 ปริมาณรถยนต์ที่อายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของดีลเลอร์รถยนต์คาดอาจหดตัว 4.2% เหลือ 8.89 ล้านคัน (รูปที่ 7) เพราะช่วงหลังมานี้ ตลาดรถยนต์ไทยเผชิญกับหลายเหตุการณ์ที่กระทบกับยอดขายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ผลจากการเร่งซื้อล่วงหน้าของรถยนต์คันแรก ปัญหาโควิด และล่าสุดปัญหาหนี้เสียสูง ทำให้ปริมาณรถยนต์อายุไม่เกิน 10 ปี สะสมบนนถนนอยู่ในระดับที่ต่ำลงต่อเนื่อง

ความเสี่ยงของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ไทย

  • การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีรถยนต์พลังงานทางเลือกกลุ่ม xEV  ซึ่งจะกระทบกับยอดขายรถยนต์ ICE โดยตรง ทำให้ค่ายรถที่เน้นขายรถยนต์ ICE เป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งที่จะเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเร็วกว่า อาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งจะตรงข้ามกับกลุ่มที่เน้นขายรถยนต์ xEV
  • การแข่งขันที่สูงขึ้นจากค่ายรถใหม่ที่ลงทุนในประเทศกับรถยนต์นำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่มี FTA ทำให้มีโอกาสเกิดการแข่งขันด้านราคาและโปรโมชั่นต่างๆรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ดีลเลอร์อาจเผชิญกับปัญหากำไรจากการขายลดลง โดยเฉพาะในกลุ่ม Market Share ต่ำ ที่แข่งขันได้น้อยกว่ากลุ่มอื่น

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะ หรือ ข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้า เป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

 

 

 


[1]HEV คือ รถยนต์ไฮบริด PHEV คือ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และ BEV คือ รถยนต์ไฟฟ้าล้วน