ส่งออกปี 68 เตรียมรับการเติบโตบนปัจจัยเสี่ยง จับตานโยบาย Trump 2.0
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตร้อยละ 5 โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายน ของปี 2567 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.1 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,695,455 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.3 (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - พฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 4.9) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 282,033.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.7 และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,032,550 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.8 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2567 ขาดดุลเท่ากับ 6,269.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขาดดุลในรูปเงินบาท 337,096 ล้านบาท
สำหรับในปี 2568 (ณ มกราคม 2568) ประมาณการณ์ส่งออกไทย เติบโตร้อยละ 1-3 จากปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหา Trade War (Trump 2.0) ที่จะส่งผลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าซึ่งอาจส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยด้วย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดึงนักลงทุนกลับประเทศและมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกามีความร้อนแรง มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้ FED ปรับประมาณการณ์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 4 ครั้งเหลือ 2 ครั้งในปีหน้า และแนวทางการลด/ยกเลิกความเข้มงวดของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ
ในด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องของการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารในทะเลจีนใต้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ยังคงเป็นความกังวลและค่าเงินบาทที่ยังคงมีความผันผวน จากปัจจัยภายในรวมถึงเงินเฟ้อและนโยบายการค้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ทั้งนี้ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น ตามการปรับขึ้นค่าแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการขนส่ง รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานในตลาดโลกมีความผันผวน จากความเสี่ยงหลายประการ และ สถานการณ์การขนส่งทางทะเล สถานการณ์ค่าระวางมีการปรับตัวสูงขึ้น จากการเร่งส่งออกตลาดไปยังสหรัฐฯ และปัญหาทะเลแดงที่ยังมีอิทธิพลต่อการส่งออกไปสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ดี ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญให้ดำเนินงานร่วมกัน คือ การผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.) รายไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเพิ่มเติมงบประมาณด้านการกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า รองรับการบิดเบือนตลาดจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรลุเป้าหมายส่งออกร้อยละ 2-3 ในปี 2568