1-2 สัปดาห์ เคาะประมูล-ถกตรงBMCL เดินรถต่อเนื่องสายสีน้ำเงิน
บอร์ด รฟม.มีมติชัดเดินรถต่อเนื่องสายสีนำ้เงิน หัวลำโพง-ท่าพระ รอกก.มาตรา 13 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ สรุปจะประกวดราคาหรือเจรจาตรงกับBMCL คาด1-2 สัปดาห์ได้ข้อยุติ ขณะที่ประธานคณะ กก.หวั่นประมูลทำล่าช้า...
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า บอร์ดได้มีมติชัดเจนให้พิจารณาเรื่องการเดินรถต่อเนื่องส่วนต่อขยาย สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนภาคเอกชนฯ 2535 ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และถือความเห็นของกรรมการเป็นที่สิ้นสุด
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่า (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนภาคเอกชนฯ 2535 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ก่อน ระหว่างการประกวดราคากับการเจรจาตรงกับ บมจ.รถไฟฟ้า (BMCL) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่เป็นเส้นทางปัจจุบัน โดยหลักในการพิจารณา ต้องเดินรถต่อเนื่องตามมติบอร์ด รฟม. และยึดตาม พ.ร.บ. ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการประกวดราคาและการเจรจาตรง คาดจะสรุปผลศึกษาได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะเรียกประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 13 ได้
สำหรับประเด็นการพิจารณา จะมีการเปรียบเทียบระหว่างวิธีประกวดราคากับการเจรจาตรง จะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกของผู้โดยสาร ค่าใช้จ่าย ระยะเวลา ข้อกฎหมายและความเป็นธรรม หากเปิดประกวดราคา ภายใต้เงื่อนไขการเดินรถต่อเนื่องตามความเห็นบอร์ดรฟม. ซึ่งการประกวดราคาอาจจะถูกมองว่า BMCL ได้เปรียบรายอื่น กรณีที่กำหนดให้ต้องเดินรถต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ จะพิจารณาในทุกแง่มุมอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องเร่งสรุป เนื่องจากตามกรอบเวลางานโยธาจะก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปี 2560 และเปิดเดินรถในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งขณะนี้ถือว่าล่าช้ามาจากเดิมที่จะเปิดในปี 2560 ดังนั้น การคัดเลือกผู้เดินรถจะต้องแล้วเสร็จในต้นปี 2558 เพื่อให้เวลาในการจัดหาระบบประมาณ 36-40 เดือน แต่หากเลือกวิธีการประกวดราคา จะไม่ทันตามกรอบเวลานี้อย่างแน่นอน
"หากสรุปว่าจะประมูลก็เดินหน้าไปได้เลย เพราะเป็นมติเดิมของกก.มาตรา 13 แต่ถ้า เห็นว่าควรเจรจาตรงกับ BMCL จะต้องเสนอไปที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) หากไม่เห็นด้วยก็ต้องกลับมาใช้วิธีประมูล แต่หากทั้งสองหน่วยเห็นด้วยก็เสนอ ครม.ทบทวนมติเดิม ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันให้รวดเร็วได้"
นอกจากนี้ ที่ประชุมยืนยันการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 26,569 ล้านบาทซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ซื้อซองเอกสารทั้ง 31 รายยื่นข้อเสนอประกวดราคาในวันที่ 30 กันยายนนี้ แม้ว่าจะมีเอกชนร้องเรียน ในประเด็นเงื่อนไข TOR โดยยืนยันว่าจะไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) หรือขยายเวลาใดๆ
ขณะเดียวกันที่ประชุม ยังเห็นชอบแต่งตั้งนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าฯ เป็นรองผู้ว่าฯ รฟม. และนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง ผู้ช่วยผู้ว่าฯ เป็นรองผู้ว่าฯ แทนผู้เกษียณอายุ.
ขอบคุณข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com
Facebook : TerraBKK Facebook
Google+ : TerraBKK Google+
Twitter : TerraBKK Twitter
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.