"ประยุทธ์" เผย ไทย-จีน ร่วมมือกันทำรถไฟทางคู่-รถไฟ 3 เส้นทาง แบบรัฐต่อรัฐ
"ประยุทธ์" เผย จีนตกลงร่วมมือกันทำรถไฟทางคู่-รถไฟ 3 เส้นทาง ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ ยันทำทุกอย่างโปร่งใส ไม่เสียเปรียบ
วันที่ 11 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีโอกาสแนะนำตัวกับผู้นำต่าง ๆ และได้เข้าหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจีนมีความต้องการรื้อฟื้นเส้นทางสายไหม ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะมีความสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งจะมีการทบทวนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป
"ท่านมีความรู้สึกว่าไทยกับจีนน่าจะร่วมกันตรงนี้ เพราะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีน เส้นทางก็มีการทำเชื่อมกันอยู่แล้วในปัจจุบัน มีการปรับปรุง ขยายเส้นทางกันอยู่แล้วในแต่ละประเทศ ประเด็นสำคัญคือเรื่องการขนส่งสินค้าต้องมีความเชื่อมโยงกัน จึงตกลงกันว่าจะร่วมมือกันในเรื่องการทำทางรถไฟ ขนาด 1.435 เมตร เป็นทางรถไฟที่รางกว้างกว่าปกติ คือกว้าง 1 เมตร ก็สอดคล้องกันพอดี ทางจีนบอกว่าพร้อมจะร่วมมือและสนับสนุนไทยทุกอย่างในการก่อสร้างเส้นทางนี้และเกิดประโยชน์ทั้งไทยและอาเซียนและจีน ก็ถือว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในด้านการพัฒนาการขนส่ง ทั้งสินค้าและประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีแผนพัฒนารถไฟหลายเส้นทาง ที่พูดคุยกับทางการจีน และตกลงที่จะร่วมมือกันแบบรัฐต่อรัฐ คือ เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย กรุงเทพ-มาบตาพุด และแยกที่แก่งคอย จ.สระบุรี การดำเนินการไม่ได้ผ่านบริษัทใด ไม่มีผลประโยชน์ให้ใคร มีแต่ผลประโยชน์ให้ประเทศ ขอให้เชื่อมั่น ตนไม่ได้มีการเจรจาส่วนตัวเลย เวลาพุดคุยเป็นการคุยเต็มคณะทั้งหมด กลับไปก็คงไปดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎหมายให้เรียบร้อย เพื่อเดินหน้าต่อไปให้ได้ ถ้าไม่ทำวันนี้จะไม่ทันการณ์ และราคาจะแพงขึ้น
"ผมยืนยันว่าเราต้องไม่เสียเปรียบในเรื่องรถไฟ มีอีกหลายประเทศที่สนใจ แต่เขาสนใจเส้นทางอื่น ไม่ใช่เส้นทางนี้ ซึ่งจะต้องไปพูดคุยกันต่อ ถ้าเราไม่ทำเส้นทางเหล่านี้ไว้ ก็จะเชื่อมต่อไม่ได้ เวลาก็จะล่าช้าไปเรื่อย การขนส่งสินค้าก็ลำบาก วันนี้เราจะเริ่มต้นรถไฟในประเทศ เริ่มทำทางคู่ รางกว้าง 1 เมตรส่วนหนึ่งก่อน ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร เพื่อจะเพิ่มระยะทางทางรถไฟให้มากขึ้น และรถไฟความเร็วสูง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รางกว้าง 1.435 เมตร ส่วนรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องศึกษาเรื่องความคุ้มค่าอีกครั้ง เราจะดำเนินการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วปานกลาง ถือว่าเป็นของขวัญให้คนไทยในปี 2558" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่าตนจะทำให้ทุกอย่างโปร่งใสที่สุด เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่เป็นมิตรกับเราด้วย อย่ากังวล ตนไม่เอาประเทศไทยเป็นเบี้ยล่างให้ใคร ตนมาทุกครั้งเอาเกียรติยศของคนไทยมาด้วย ยืนยันว่าจะต้องไม่มีการทุจริตในทุกโครงการ และโครงการจะต้องเกิด ไม่เช่นนั้นความไว้วางใจจะไม่เกิดขึ้น ชื่อเสียงประเทศไทยเสียหายมากเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการทำสัญญา ตนจะให้ทำตามกฎหมาย ทั้งนี้จีนจะให้ความช่วยเหลือเรื่องสินค้าเกษตร โดยจะรับซื้อข้าวจากไทย นอกจากนี้ยังได้พูดคุยในเรื่องความร่วมมือไทย-จีน
"นายกฯ" เผย หลายประเทศห่วงสถานการณ์การเมืองไทย ระบุ "ผู้นำจีน-ญี่ปุ่น" เตรียมยกเลิกประกาศเตือนพลเมืองเข้าไทย
วันที่ 11 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการร่วมงานเลี้ยงผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า ได้พบผู้นำทุกประเทศ รวมถึงได้พุดคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัค โอบามา นายวลาดิเมียร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ซึ่งทุกประเทศสอบถามถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่ามีความสุขกันหรือยัง ซึ่งได้บอกไปว่าบรรยากาศดีแล้ว แต่ขอเวลาปฏิรูปประเทศระยะหนึ่งก่อน
"ได้พูดกับประธานาธิบดีโอบามาด้วย เขาแสดงความเป็นห่วง ผมก็ขอบคุณที่เป็นห่วงและยืนยันจะทำให้ดีที่สุด ได้พบกับนายกฯ ปูติน ก็ถามว่าประเทศไทยเป็นไง เรียบร้อยหรือยัง ผมก็บอกเรียบร้อยดี ขอเวลาเราระยะหนึ่ง ทุกคนก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ได้พูดเรื่องความขัดแย้ง ผมบอกทุกประเทศว่าประเทศไทยสงบสุขพอสมควรแล้ว การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น ได้เชิญชวนให้ทุกประเทศมาเที่ยวเมืองไทยด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและจีนบอกว่าจะยกเลิกประกาศเตือนเพื่อให้คนมาเที่ยว ทุกประเทศกล่าวขวัญถึงประเทศไทยในทางที่ดีหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com
Facebook : TerraBKK Facebook
Google+ : TerraBKK Google+
Twitter : TerraBKK Twitter
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.