นักวิชาการชี้ช่องรีดภาษีมรดก3แสนล.
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "ภาษีที่ดินและมรดกใครมี ใครจ่าย ใครได้ประโยชน์" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งภาษีมรดก แต่ควรพิจารณารายได้และต้นทุนในการจัดเก็บ เพราะหากต้นทุนในการจัดเก็บสูง อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มฐานรายได้ให้รัฐ และควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งอาจสร้างความบิดเบือนให้ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงจะปิดช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษีอย่างไร
ส่วนของภาษีที่ดิน มีข้อกังวลเรื่องการตีมูลค่า หรือประเมินราคาที่ดิน ควรจะให้มีการใช้ดุลพินิจน้อยที่สุด เพราะเป็นจุดที่เปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังมองว่าอาจกระทบต่อการลงทุนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มในที่ดิน จึงน่าจะมีการแยกอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน และภาษีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้กระทบส่วนนี้น้อยลง ขณะที่ภาษีมรดกนั้น พบว่า ต้นทุนในการไล่เก็บภาษีสูงมาก
และยังสามารถเลี่ยงได้หลายวิธี เช่น 1.การเปลี่ยนมรดกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเพชรพลอย ซึ่งยากต่อการตรวจสอบ 2.ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ผ่านก็จะมีการเร่งการโอนที่ดินข้ามเจเนอเรชั่น 3.มหาเศรษฐีจะมีการโอนทรัพย์สินไปต่างประเทศ ทำให้เหลือทรัพย์สินที่จะเสียภาษีน้อยมาก
ด้าน น.ส.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวว่า หากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี แม้ในระยะแรกจะจัดเก็บต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ต่อไปหากเก็บในอัตราสูงสุด 4% อาจจะลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรบ้าง ส่วนการจัดเก็บภาษีมรดกหากประเมินจากของคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย 50 อันดับแรก กรมสรรพากรจะเก็บภาษีได้เป็นเม็ดเงินรวมเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่าคนรวยคงมีวิธีหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้โดนเรียกเก็บภาษีตามความเป็นจริง
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีคำสั่งนัดประชุม สนช.ครั้งที่ 29/2557 ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ โดยจะมีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.