เลื่อนคุยญี่ปุ่นลงทุนรถไฟทางคู่ รอรัฐบาลใหม่ตั้งเสร็จก่อนเยือน เดินหน้าเอ็มโอยูจีนสัปดาห์หน้า
"ประจิน" เผยรัฐบาลชะลอเดินทางเยือนญี่ปุ่นร่วมเจรจาพัฒนารถไฟทางคู่ เส้นทางตาก-มุกดาหาร จากเดิมกำหนดไว้กลางเดือนธันวาคมนี้ รอญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลใหม่ให้เสร็จก่อน พร้อมเดินหน้าลงนามเอ็มโอยู รถไฟไทย-จีน สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ หลังผ่านความเห็นชอบจาก สนช.
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลจะชะลอการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อเจรจาความร่วมมือพัฒนาโครงการทางรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน (สแตนดาร์ด เกจ) 1.435 เมตร เส้นทางสายตาก-มุกดาหาร ที่เป็นระบบรถไฟฟ้าออกไปก่อน จากเดิมที่มีกำหนดการจะเดินทางไปในช่วงกลางเดือนธันวาคม และจะร่วมมือกันในลักษณะเดียวกับไทยและจีน เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของญี่ปุ่น จึงต้องรอให้ญี่ปุ่นจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า สำหรับการเดินทางไปเยือนประเทศจีนเพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพ ระยะทาง 133 กิโลเมตรนั้น คาดว่าภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนจีนและลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนร่างเอ็มโอยูที่ไทยจะลงนามร่วมกับจีนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว จึงสามารถลงนามในเอ็มโอยูที่จะร่วมมือกันได้เลย จากนั้นจึงจะเจรจารายละเอียดของโครงการร่วมกันต่อไป
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ในส่วนของการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ยังกำหนดไว้ที่ 3 เส้นทาง คือ 1.สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 190 กิโลเมตร 2.สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร และ 3.สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่ 3 ได้รับงบประมาณเวนคืนที่ดินแล้ว ส่วนค่าก่อสร้างจะใช้เงินค่าธรรมเนียมผ่านทางจากกองทุนมอเตอร์เวย์
"ใน 2 สายแรกคือ สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ตอนนี้มีหลายประเทศแสดงความสนใจและพร้อมสนับสนุนเงินกู้ เช่น เกาหลี จีน และญี่ปุ่น แต่จะดำเนินการในรูปแบบใดต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลังก่อน" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุน ซึ่งมี 4 รูปแบบคือ 1.กระทรวงการคลังกู้เงินภายในประเทศ 2.การให้เอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 3.การให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน และ 4.การให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างพร้อมจัดหาแหล่งเงินกู้แบบเทิร์นคีย์ที่มีแบบรายละเอียดก่อสร้างแล้ว เพื่อควบคุมราคาก่อสร้างได้ เมื่อก่อสร้างเสร็จกรมทางหลวงจะชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าก่อสร้าง เชื่อว่าแนวทางนี้มีความเหมาะสมที่สุด และศักยภาพของผู้รับเหมารายใหญ่ในไทยสามารถดำเนินการได้ ส่วนแนวทางที่เป็นไปได้รองลงมา คือ รัฐกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาดำเนินการ
ที่มา : นสพ.มติชน
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.