ก.คลังเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์หน้า
สำหรับที่ดินจัดเก็บมี 4 ประเภท โดยที่เก็บมากที่สุดคือที่ดินเพื่อการพาณิชย์และที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งเริ่มเก็บร้อยละ 0.5 แต่ถ้าปล่อยรกร้างต่อเนื่องอัตราจัดเก็บจะเพิ่มขึ้น เพดานสูงสุดคือร้อยละ 2 แต่ที่เป็นกังวลกันมากคือที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้มีรายได้ระดับปานกลางลงมา ซึ่งชัดเจนแล้วว่าบ้านที่ราคาต่ำกว่า 1,000,000 บาท ยกเว้นภาษี และอัตราการจัดเก็บจะอยู่ที่ร้อยละ 0.1 จากเพดานสูงสุดร้อยละ 0.5
แต่บ้านที่ราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท จะเก็บภาษีครึ่งหนึ่งของภาษีที่กำหนด เช่น กำหนดไว้ 0.1 ก็เสีย 0.05 ส่วนที่เกินก็คิดในอัตรากำหนด ดังนั้นบ้านราคา 3,000,000 บาท จะเสียภาษี 1,500 บาท ส่วนเกินเสียล้านละ 1,000 บาท แต่กระทรวงการคลังยืนยันต้องเก็บและอัตราจัดเก็บนั้นจะไม่มากไปกว่าภาษีรถยนต์ อย่างรถยนต์ 1,200 ซีซี หรือ อีโคคาร์ ราคา 4-5 แสน ก็จ่ายภาษี 1,200 บาท
ซึ่งจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปภาษีจะลงในรายละเอียดปลีกย่อย หลักเกณฑ์ข้อลดหย่อน รวมถึงไปข้อกังวลต่างๆเช่น การช่วงต่อที่ดินและบ้าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในทำเลที่ราคาสูงมาก ก็อาจจะประเมินให้เหมาะสม นอกจากนี้มีการเสนอว่าอาจจะนำภาษีบ้านและที่ดินคิดเป็นค่าใช้จ่าย นำมาหักจากภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบัน ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านก็นำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีรายได้สูงสุด 100,000 บาท และการถกเถียงว่าการจัดเก็บภาษีที่อยู่อาศัยควรเรียกเก็บจากบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3ในปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีที่ดิน เป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ โดยภาษีโรงเรือนจะเน้นเก็บภาษีรายได้ที่ได้จากการใช้ที่ดินทำประโยชน์เช่น ทำการค้า ให้เช่า โดยเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 12.5 ซึ่งหากใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ที่ดินเพื่อการพาณิชย์จะจ่ายถูกลงที่ร้อยละ 2 เพราะก่อนหน้านี้มีความซ้ำซ้อนกับภาษีรายได้และภาษีโรงเรือนอยู่
ขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่จะจัดเก็บจากที่ดิน ซึ่งใช้เป็นอยู่อาศัยหรือทำการเกษตร มีอัตราจัดเก็บตามราคาประเมิน ถ้าราคาที่ดินสูงจะจัดเก็บสูงสุดไร่ละ 70 บาท แต่จะมีข้อยกเว้นและลดหย่อนเช่น ที่ดินในเขตกรุงเทพ ถ้าอยู่ในชุมชนหนาแน่น ยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินได้ตั้งแต่ 50 ตารางวาถึง 1 ไร่ ถ้าในชนบทลดหย่อนได้ถึง 5 ไร่ แต่หลังจากประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่จะยกเลิกไป
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปภาษีที่ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเจตนารมณ์ของรัฐคือสิ่งใดที่เป็นทรัพย์สินจะให้มีการจัดเก็บภาษี โดยจะยกเว้นให้น้อยที่สุด ใครที่มีทรัพย์สินมากก็ต้องจ่ายมาก ซึ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้การใช้ทรัพยากรที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุดและป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไร นี่จึงเป็นที่มาของปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมไปถึงภาษีมรดก
แต่อัตราจัดเก็บก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ภาระมนุษย์เงินเดือนที่มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าดอกเบี้ยบ้าน, ภาษีบ้าน ซึ่งรวมไปถึงภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่บวกอยู่ในทุกสินค้า ภาษีรถยนต์ ภาษีน้ำมัน ขณะที่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวัน
เปิดสารพัดภาษีคนไทยต้องจ่าย รัฐย้ำ...ลดเหลื่อมล้ำกระตุ้นศก. การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ จึงกลายเป็นความหวัง... ความฝันที่รัฐบาลต้องการใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อเพิ่มศักยภาพการลงทุนและการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ช่วงปลายปีเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: thaipbs