รองโฆษกรัฐบาล ยันภาษีภาษีบ้าน และที่ดิน จะพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะที่ สศค. เสนอวิธีจัดเก็บให้รมว.คลัง จัดเก็บแล้ว ด้านรองประธาน สภาอุตฯต้องการให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีทั้งฝั่งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย ด้านปชป. ชี้ต้องเป็นธรรมต่อทุกกลุ่ม
แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สรุปรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง พิจารณาแล้ว ล่าสุด โดยการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร 0.05% ของราคาประเมิน แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตรมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือ 1.5 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี รวมถึงที่ดินเพื่อการเกษตรอีกจำนวนหนึ่งเสียภาษีอัตรา 50% ของที่เรียกเก็บจริง0.05% เหมือนกับเก็บภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัย สำหรับการเก็บภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยชัดเจนแล้วว่าเก็บ 0.1% ของราคาประเมิน บ้านที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น บ้านที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษี 50% ของ0.1%และบ้านที่เกิน 3 ล้านบาท ในส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท คิดภาษีเต็มตามที่เก็บจริง

house_tax

นอกจากนี้ ในส่วนของที่ดินเพื่อการพาณิชย์ คาดว่าจะกำหนด 3 อัตรา โดยยึดตามกฎหมายควบคุมอาคารที่แบ่งอาคารเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อาคารพาณิชย์ขนาดเล็กพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร จะเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่ทำการค้าขายโชว์ห่วย อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ พื้นที่ตั้งแต่ 2,000-10,000 ตารางเมตร และอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่เกิน 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งจะเก็บในอัตราที่สูงขึ้น โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีคือเจ้าของที่ถือกรรมสิทธิ์ในอาคารนั้น สำหรับการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะเริ่มเก็บ 0.5% เพราะถือเป็นที่ดินของคนมีฐานะและไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงเริ่มเก็บในอัตราที่สูงทันที และจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 3 ปี หากยังไม่นำไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่เกิน 2% ของเพดานอัตราภาษีที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย เปิดเผยว่า จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือภายในเดือนมี.ค.นี้และไม่มีทางล้มกฎหมายนี้ เพราะถือเป็นกฎหมายที่สำคัญในการปฏิรูปภาษีของประเทศไทย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดิน ว่าเป็นผลมาจากการปรับปรุงภาษีโรงเรือนในอดีตให้มีความทันสมัยขึ้นและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งการประเมินพื้นที่และระบบการจัดเก็บภาษี ขอให้สังคมเข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวคิดเบื้องต้นกับรมว.คลัง ว่าการจัดเก็บจะต้องไม่ทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน คำนึงถึงความเป็นจริงผู้มีรายได้สูงต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น และไม่ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน “การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษียังไม่มีความชัดเจน เป็นเพียงตุ๊กตาที่คณะทำงานคิดขึ้นมาเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เพราะต้องดูพื้นฐานตัวเลขที่คำนึงถึงความเป็นจริง สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน คณะทำงานต้องปรับปรุงให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ารัฐบาลเอาเปรียบประชาชนจนเกินไป ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกหรือกังวลจนเกินไป หรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะยังไม่ถึงจุดสุดท้ายที่กฎหมายบังคับใช้ ยืนยันว่าระบบคิดคำนวณจะมีความเป็นธรรม และผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนนำมาใช้”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างว่า เรื่องนี้ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีทั้งฝั่งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยให้มองในแง่รัฐเกี่ยวกับรายได้ที่จะจัดเก็บเข้ามาเพิ่มแล้วเทียบกับการไป ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ว่าสิ่งใดจะดีกว่ากันโดยให้มองผลกระทบที่มีต่อประชาชนน้อยที่สุด นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีนั้นสมควรจะทำในสิ่งที่รอบคอบ และมีหลักการที่ชัดเจนก่อน โดยในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้เคยมีการผลักดันเรื่องภาษีทรัพย์สิน และในขณะนั้นเองก็มีความชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม แต่ต้องการให้ความเป็นธรรม อุดช่องโหว่ทุจริต การใช้ดุลพินิจของข้าราชการ เพราะฉะนั้นในตอนนี้ถ้ารัฐบาลมีการประกาศชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม ต้องการสร้างความเป็นธรรม และอุดช่องโหว่ในสังคม ผู้เสียภาษีก็จะสบายใจ รายละเอียดเรื่องการเสียภาษีที่ทางภาครัฐได้ประกาศออกมาในขณะนี้นั้น ยังไม่มีการคำนวณที่ให้คำตอบว่า อัตราภาษีใหม่นั้นแตกต่างจากของเดิมอย่างไร เป้าหมายของการเก็บภาษีคืออะไร ทั้งนี้ตนขอย้ำว่าต้องการเห็นการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม

ขอบคุณข้อมูลจาก :