รายงานข่าวแจ้งว่า นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ได้ริเริ่มในการนำมาตรการ Demand Response (DR) มาใช้ในการบริหารความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ระบบไฟฟ้ามีความเสี่ยงด้านความมั่นคง โดยในปี 2557 ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมและมีนาคม 2557 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเหตุการณ์ที่แหล่งก๊าซหยุดผลิต ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมโรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมถึง กฟผ. กฟภ. และ กฟน.

ในช่วงเดือนเมษายนปี 2558 มีแหล่งก๊าซยาดานาและซอติก้าหยุดผลิต แม้ว่าระบบจะมีการสำรองน้ำมันสำหรับใช้ทดแทนก๊าซฯ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงในช่วงเดือนเมษายน 2558 แต่เนื่องจาก กกพ. เล็งเห็นว่า DR ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้กำหนดให้มี "โครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 1/2558" ขึ้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้มาตรการที่ได้ดำเนินการมาแล้วในปี 2557 อีกทั้งยังช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าระหว่างเกิดเหตุการณ์ในเดือนเมษายนนี้ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

การดำเนินโครงการในครั้งนี้เป็นการขอความร่วมมือจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพในการลดกำลังการใช้ไฟฟ้า สำหรับ DR ครั้งนี้ กกพ. กำหนดอัตราเงินชดเชยที่ 3 บาทสำหรับแต่ละหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ร่วมโครงการสามารถลดได้ หากปริมาณกำลังการใช้ไฟฟ้าที่ลดเป็นไปตามเงื่อนไขที่ กกพ. กำหนด

นายวีระพลกล่าวว่า เวลาที่กำหนดให้มีการดำเนินมาตรการ DR ครั้งนี้ คือ 10.00 - 12.00 น. 14.00 - 17.00 น. และ 19.00 - 22.00 น. ในวันที่ 10, 17, 18 และ 20 เมษายน 2558 รวม 12 คาบเวลา โดยที่ ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า ประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่มีมิเตอร์บันทึกการใช้ไฟฟ้าได้ทุก 15 นาที เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 31 วัน และต้องเสนอลดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละคาบเวลาไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถกรอกใบสมัครและยื่นข้อเสนอลดกำลังการใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ ผู้สมัครเป็นลูกค้า (กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน.) ตั้งแต่วันที่ 23 - 31 มีนาคม 2558 นี้

ขอบคุณข้อมูล www.erc.or.th