ชงเอกชนลุยลงทุนรถไฟรางคู่! แยกแอร์พอร์ตลิงก์พ้นอก รฟท.
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.จะเสนอให้ ภาคเอกชนลงทุนรถไฟรางคู่ ตั้งแต่ก่อสร้างรางรถไฟไปจนถึง การบริหารการเดินรถไฟ โดยรัฐบาลอาจอุดหนุนบางส่วน เพื่อให้ต้นทุนโครงการต่ำลง ซึ่งประเด็นนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลที่อาจจะมอบเส้นรถไฟรางคู่บางเส้นทางมาให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด “เส้นทางรถไฟรางคู่บางเส้นทาง ภาคเอกชนน่าจะมีความสนใจทั้งในเรื่องของการลงทุนในระบบราง ไปจนถึงการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และการนำขบวนรถไฟมาให้บริการในเส้นทางที่ตัวเองลงทุน ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการลงทุนที่แตกต่างจากอดีตที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างระบบราง ส่วนเอกชนจะเป็นผู้นำขบวนรถไฟมาเดินรถ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐ 80% และอีก 20% มาจากภาคเอกชน”
นายกุลิศ กล่าวว่า การให้ภาคเอกชนลงทุนด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด อาจทำให้ภาระเงินลงทุนตัวโครงการสูงมาก ซึ่งเป็นภาระในการจ่ายคืนของรัฐในภายหลัง เนื่องจากภาคเอกชนมีต้นทุนเงินกู้ที่สูงกว่าภาครัฐ ดังนั้น รัฐบาลอาจช่วยจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ภาคเอกชนกู้กับอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลกู้ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระทางการเงินให้ผู้ลงทุน “การให้เอกชนเข้ามาลงทุน ตั้งแต่ก่อสร้างจนถึงการบริหารการเดินรถในรถไฟรางคู่บางเส้นทางนั้น มีข้อดีคือช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล เพราะรัฐบาลสามารถทยอยจ่ายคืน ให้เอกชน เช่นกรณีให้สิทธิ์เอกชนบริหารเส้นทางรถไฟรางคู่ 20 ปี การจ่ายคืนเงินให้เอกชนก็จะทยอยจ่ายคืนในปีแรกที่เริ่มโครงการไปจนถึงสิ้นสุดสัญญาที่ให้เอกชนบริหาร”
นอกจากนั้น คณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ยังเห็นชอบที่จะให้เอกชนเข้ามาลงทุนเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งมี 2 ช่วงคือ บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงให้ รฟท.ยกสัมปทานเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ปัจจุบัน รฟท.เป็นผู้บริหารการเดินรถด้วยตัวเองไปให้เอกชนบริหารการเดินรถ เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ รฟท.บริหารอยู่ในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด รฟท.ยังไม่ยอมรับแนวทางที่ซุปเปอร์บอร์ดเห็นชอบให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดย รฟท.ยังต้องการเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการโครงการด้วยตัวเอง แต่ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การบริหารงานของ รฟท.ในโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ล้มเหลว และขาดประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐ
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.