"หากเราสืบสาวย้อนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นไปเรื่อยๆ จะพบว่าประเทศไทยเรานั้น มีการเข้ามาของชาวต่างชาติตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือเมื่อยุคที่เศรษฐกิจทางทะเลเฟื่องฟู และจวบจนถึงปัจจุบัน ประตูที่เปิดต้อนรับชาวต่างชาติก็ยังเปิดกว้างเช่นเดิม และมีแนวโน้มจะเปิดกว้างกว่าเดิมเมื่อถึงปี 2558 ยุคสมัยแห่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC)"

ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยและอยู่ยาวเพื่อประกอบธุรกิจหรือแต่งงานตั้งรกรากในไทยมีอยู่ไม่น้อย หากเป็นการทำงานตามบริษัทแม่ มักเช่าคอนโดมิเนียมหรือเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว แต่ในกรณีที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือแต่งงานและคาดหวังจะตั้งรกราก ก็ย่อมต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ Terrabkk จึงขอพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการซื้อหาอสังหาริมทรัพย์สำหรับชาวต่างชาติ

แม้ชาวต่างชาติจะเข้ามาอยู่ในไทยนานแค่ไหน แต่ก็ยังถือเป็นคนจากแผ่นดินอื่น การจะมาเป็นเจ้าของผืนดินในประเทศไทยอย่างบ้านและที่ดินย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะขัดกับหลักกฎหมาย ดังนั้นอสังหาริมทรัพย์ที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อได้มีอยู่ 3 ประเภทคือ

1.    คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุด

2.    อาคารที่ไม่ติดกับพื้น (ซื้อเฉพาะห้อง)

3.    ที่ดินและอาคารทุกชนิดที่ได้จดทะเบียนสัญญาเช่าแบบระยะยาวมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

โดยการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ 3 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้นสำหรับชาวต่างชาติ สามารถจำแนกได้ดังนี้

คอนโดมิเนียม

1.   ชาวต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้เท่าที่ต้องการ แต่ต้องไม่เกิน 49% ของพื้นที่ทั้งหมดในอาคารนั้น

2.   ผู้ซื้อชาวต่างชาติจะต้องขอจดหมายรับรองสัดส่วนต่างชาติจากนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งจะต้องนำไปยื่นกับกรมที่ดินเพื่อใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์

3.   ต้องชำระค่าคอนโดมิเนียมทั้งหมดด้วยเงินสกุลต่างประเทศ 100%  และโอนมาจากธนาคารต่างประเทศ พร้อมแนนบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศจากธนาคารเป็นหลักฐานการโอนเงินเพื่อนำไปแสดงต่อที่ทำการที่ดิน  เพื่อป้องกันการฟอกเงิน

               บ้าน และ ที่ดิน ตามปกติแล้วชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินได้ ยกเว้นในกรณีต่อไปนี้

                      1.    แต่งงานกับคนไทย – สามารถใช้ชื่อคนไทยในการซื้อบ้าน/ที่ดินได้ แต่เงินที่นำมาซื้อบ้าน/ที่ดินนั้น จะต้องเป็นสินส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทยเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งวิธีนี้จะจะไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้จริง เพราะเป็นชื่อของคู่สมรสคนไทย

                       2.   ทำสัญญาเช่าระยะยาว – ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี หมายถึงการไม่ได้เป็นเจ้าของจริงๆ แต่ก็ยังได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการดูแลเป็นระยะเวลา 30 ปี และยังสามารถต่อสัญญา 30 ปีได้อีก 2 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลาทั้งหมด 90 ปี

                       3.   จัดตั้งบริษัทสัญชาติไทย – จัดตั้งบริษัทโดยที่ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท  อีก 51% ให้ถือโดยบุคคลหรือนิติบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งในฐานะกรรมการบริษัท ชาวต่างชาติมีสิทธิสามารถควบคุมการลงมติของหุ้นส่วนอื่นๆได้ และยังสามารถควบคุมการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เช่นกัน