จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายผ่อนปรนเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยการขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อฝากกับสถาบันการเงินในประเทศไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศโอนเงินออก เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่ามาตรการดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะขณะนี้ถึงเวลาส่งเสริมให้นักลงทุนไทยที่มีเงินออมนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศทั่วโลก การออกไปลงทุนทั้งรูปแบบกองทุนและส่วนบุคคล จึงเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้รู้จักการบริหารเงิน ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเงินบาทแข็งค่าและอยู่ในช่วงทิศทางดอกเบี้ยขาลง จึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้มีเงินออม จึงต้องเปิดกว้างให้นำเงินออกไปลงทุนหรือลงทุนผ่านกองทุนรวม ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ได้เสริมช่องทางการลงทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม มีสัดส่วนกองทุนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะขณะนี้ทุกส่วนมีความพร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้หลายประเทศให้ผลตอบแทนสูงกว่าไทย จึงเป็นโอกาสนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและมีส่วนช่วยลดแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เพราะค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเวลาอันใกล้นี้ ธนาคารกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (27-30 เมษายน) ว่า เงินบาทปรับตัวแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือน ที่ 32.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงท้ายสัปดาห์ ภายหลังจากธปท. ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุน ต่อเนื่องจากมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหนือความคาดหมายของตลาดเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากสัญญาณเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 1/2558 ที่สะท้อนผ่านเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยที่รายงานโดย ธปท. ด้วยเช่นกัน เงินบาทอ่อนค่าลงแม้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะเผชิญแรงขายเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่จีดีพีสหรัฐ ไตรมาส 1/2558 ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดมาก สำหรับวันที่ 30 เมษายน เงินบาทอยู่ที่ 32.97 เทียบกับระดับ 32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา สำหรับสัปดาห์หน้าตลาดการเงินในประเทศจะเปิดทำการระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกรอจับตา คือ ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงาน อัตราการว่างงาน ยอดสั่งซื้อของโรงงาน สตอกสินค้าภาคค้าส่ง ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนมีนาคม

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : magnetictrading.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : แนวหน้า