ดอกเบี้ยนโยบาย มีผลต่อ ธนาคารพาณิชย์ อย่างไร ?
ดอกเบี้ยนโยบาย มีผลต่อ ธนาคารพาณิชย์ อย่างไร ?
ล่าสุดเมื่อ 19 ธ.ค. 2561 ธปท. ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ด้วยมติคณะกรรมการฯ ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง ด้วยเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน เห็นควรปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับอนาคต
ดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อธนาคารพาณิชย์อย่างไร? มีความน่าสนใจไม่น้อยในช่วงเวลานี้ สำหรับธนาคารพาณิชย์ TerraBKK ขออธิบายก่อนว่า การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจทั่วไป คือต้องการผลกำไร ซึ่ง ประเภทของรายได้ ธนาคารพาณิชย์แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้
1. รายได้ดอกเบี้ย ถือเป็นแหล่งรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ "รายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อ" นอกจากนี้ยังมี "รายได้ดอกเบี้ยระหว่างธนาคารและตลาดเงิน" รวมทั้ง "รายได้ดอกเบี้ยจากลงทุน" ซึ่งส่วนนี้เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง รวมไปถึงกลไก Interest Rate Spread คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (ประมาณ 6.24% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ย 0.75%, อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย 6.99% ณ 4พค. 62, ธปท. ) และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM ) (เฉลี่ย 0.8-1.47% จากตัวเลขสถิติอัตราส่วนสำคัญของธนาคารพาณิชย์ไทยรอบ q3/61 ,ธปท.)
2. รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เป็นรายได้ที่เกิดจากกิจการอื่นๆ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมและบริการ ,การปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบาย จึงส่งผลกระทบต่อธนาคาพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สามารถทำความเข้าใจ เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย แบบง่ายๆ ดังนี้
ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate)
ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร? คือ เครื่องมือตอบสนองนโยบายการเงิน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท. ใช้ในการ ควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เสมือนเป็น อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ประกอบการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น
ดอกเบี้ยนโยบาย อ้างอิงมาจากอะไร? อ้างอิงจาก อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันของ ธปท. (R/P 1 Day) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับจากการนำเงินสดไปให้ธปท.กู้ยืม เป็นเวลา 1 วัน (กรณีธนาคารมีสภาพคล่องสูงเกินไป) โดยธปท. จะโอนพันธบัตรเป็นหลักประกัน และสัญญาว่าจะรับซื้อคืนพันธบัตร พร้อมจ่ายดอกเบี้ยระยะเวลา 1วัน เป็นการตอบแทน
ดอกเบี้ยนโยบาย เปลี่ยนแปลงเพราะอะไร? อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิด สภาพคล่องสูงเกินไป ในระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ธปท.จะต้องทำการ ปรับดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดก็ตามที่เกิด สภาพคล่องต่ำเกินไป ในระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินฝืดเพิ่มสูงขึ้น ธปท.จะต้องทำการ ปรับดอกเบี้ยนโยบายต่ำลง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ปรับตัวในทิศทางเดียวกัน เพื่อแก้ไขปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
ธนาคารพาณิชย์ตอบสนอง การเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไร? ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องตอบสนองไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายนั้น เช่น เมื่อดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้น ธนาคารพาณิชย์มักปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อดูดซับปริมาณเงินออกไปจากระบบเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม เมื่อ ดอกเบี้ยนโยบายลดลง ธนาคารพาณิชย์มักปรับอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินฝากไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การใช้จ่าย ,การลงทุนในสินทรัพย์อื่น เป็นต้น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อกระตุ้นการลงทุน ของผู้ประกอบการ เป็นต้น
แน่นอนว่า การประกาศเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี (ณ 19 ธ.ค. 2561) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต สำหรับ ธนาคารพาณิชย์เองจำเป็นต้องปรับตัวตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน บางธนาคารเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น สอดคล้องตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2562 , ธนาคารกสิกรไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.25% ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2562 เป็นต้น ---TerraBKK
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก