นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันกำลังติดตามสถานการณ์การจ้างงานในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก คาดการณ์ว่าจากการเร่งการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) ต่างๆ ที่จะทยอยเข้ามาอาจจะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงานได้เช่นที่เคยเกิดขึ้นช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

"แรงงานภาคก่อสร้างมีอยู่ในระบบประมาณ 2.5-2.6 ล้านคน แต่แรงงานนี้เคลื่อนไหวไปมารวดเร็วเพราะส่วนหนึ่งจะทำการเกษตรด้วย หากช่วงใดเป็นฤดูเก็บเกี่ยวจะหันกลับไปทำไร่ทำนาแทน หรือหากมีแรงจูงใจก็จะหันไปยังภาคบริการและอุตสาหกรรม แต่ช่วงน้ำท่วมงานก่อสร้างเยอะมากจนผู้รับเหมาไม่สามารถรับงานได้ เพราะคนไม่พอหรือรับได้แต่ต้องขยายเวลาส่งมอบงาน เราเองก็เกรงว่าปัญหานี้อาจจะกลับมาได้อีกครั้งช่วงครึ่งปีหลังจากนี้"

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างปีนี้ คาดว่าจะโตจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 10% ส่วนมูลค่านั้นล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับตัวเลขมูลค่าของงานก่อสร้างทั้งระบบใหม่ล่าสุด พบว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยได้แตะระดับ 1 ล้านล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ดังนั้น ปีนี้มูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างก็จะไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

"ทางสศช.จะอัพเดตข้อมูลที่แท้จริงใหม่ ซึ่งก่อนหน้าเรายึดตัวเลขเดิมของปีที่แล้วอยู่ระดับ 9 แสนกว่าล้านบาท และตั้งเป้าปีนี้จะแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีแรก มูลค่านี้เลยเปลี่ยนไปเพราะต้องยึดตัวเลขสศช.ซึ่งปี 2557 พบว่ามูลค่าการก่อสร้างอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท"

สำหรับไตรมาสแรกปีนี้มูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้าง อยู่ที่ประมาณ 2.93 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเติบโต 16.5% แบ่งเป็นการลงทุน ภาครัฐ 1.624 แสนล้านบาท ขยายตัวถึง 37.7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ระดับ 1.33 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 0.7% ซึ่งการลงทุนรัฐขยายตัวแนวโน้มหลังจากนี้เอกชนก็จะลงทุนตาม ดังนั้นภาพรวมปีนี้การลงทุนของรัฐจะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมาก

ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์