คลังเดินหน้า"ภาษีที่ดิน" เล็งจัดเก็บ"อัตราก้าวหน้า" ถกนัดสุดท้ายปลายก.ค.นี้
คลังเตรียมชง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าคณะกรรมการปฏิรูปภาษีหารือครั้งสุดท้ายปลาย ก.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม. ชี้เก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เหมือนกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามุ่งเก็บภาษีคนรวยไม่ให้กระทบคนจน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่มี นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคมนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะสรุปวิธีการและอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยในเบื้องต้นรูปแบบการจัดเก็บเป็นแบบขั้นบันไดหรืออัตราก้าวหน้าในลักษณะเดียวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งผู้ที่มีที่ดินเล็กน้อยและไม่แพงจะเสียภาษีไม่มากแต่ถ้าเป็นคนที่มีที่ดินมากและเป็นที่ดินราคาแพงจะเสียภาษีที่สูงขึ้นซึ่งจะแตกต่างจากร่างกฎหมายเดิมที่เคยกำหนดไว้ว่าเสียในอัตราเดียวทั้งหมด
นอกจากนี้ สศค. ยังพิจารณาถึง ผู้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมมาตั้งแต่ปู่ย่า ตายาย หากผู้ครอบครองได้สิทธิมาเป็นระยะเวลามากกว่า 15-20 ปีจะได้รับการพิจารณาบรรเทาภาษีด้วยการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ เว้นแต่มีการขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครองใหม่จะต้องเสียภาษีในอัตราใหม่ ส่วนกรณีที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือที่ดินส่วนกลางของหมู่บ้านจะไม่มีภาระภาษี
สศค.ยังคงเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3 ประเภท คือ- ที่ดินเพื่อการเกษตร
- ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย
- ที่ดินอื่น ๆ
ซึ่งนับรวมถึงที่ดินเพื่อการพาณิชย์และที่ดินรกร้างว่างเปล่าเหมือนเดิมแต่สำหรับอัตราภาษีนั้น สศค.เห็นว่าควรลดระดับลงเช่น กรณีที่ที่ดินว่างเปล่าและไม่ได้ทำประโยชน์ที่ต้องเสียภาษีสูงสุดในอัตรา 0.5% แต่จะจัดเก็บจริงในอัตรา 0.05% ของราคาประเมินที่ดินและหากยังไม่ใช้ประโยชน์ให้เพิ่มภาษีอีก 1 เท่าทุก ๆ 3 ปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมินที่ดิน เห็นว่าเป็นอัตราที่แพงเกินไปก็จะเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลด้วยเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลปีละ 200,000 ล้านบาทภายในประเทศ 2-3 ปี นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ในท้ายที่สุดต้องยกเลิกเพราะมีกระแสต่อต้านอย่างหนักทั้งจากประชาชนและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สศค.ได้มีการเน้นย้ำว่ารายได้ของรัฐบาลควรจะเพิ่มขึ้นแบบเล็กน้อยระยะเริ่มแรกปีละไม่เกิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ขอบคุณข้อมูล จาก : มติชนออนไลน์