การบูรณาการของอาเซียนส่งผลดีต่อธุรกิจโลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
การบูรณาการเป็นตลาดเดียวกันของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปี 2558 นั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ทันทีต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิก และอาจส่งผลดีต่อเนื่องมายังตลาดอาคารสำนักงานและค้าปลีกด้วย
จากรายงานฉบับล่าสุดของซีบีอาร์อี "ASEAN Economic Community - A Boost to South East Asia’s Real Estate Market" จัดทำโดย แผนกวิจัยของซีบีอาร์อี คาดการณ์ว่า ความต้องการและปริมาณพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่สำนักงานในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จะพุ่งสูงขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือ เอเอ็มอี และบริษัทข้ามชาติจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจโลจิสติกส์นั้นเป็นที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตและมีการพัฒนามากขึ้นในอาเซียน ซึ่งเป็นผลมาจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี มีแผนแม่แบบการจัดการที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) แบบค่อยเป็นค่อยไประหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน
การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมย่อมสนับสนุนให้เกิดความต้องการพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากจะมีบริษัทข้ามชาติเริ่มเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น และธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคก็จะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจให้บริการด้านการเงินและด้านกฎหมายในประเทศเกิดใหม่อาจจะเติบโตไปตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มมากขึ้นและแผนการเปิดเสรีของตลาดทุนในภูมิภาค นอกจากนี้ยังเป็นที่คาดการณ์ว่าบริษัทค้าปลีกต่างชาติจะเข้ามาในตลาดอาเซียนมากขึ้น ต่อเนื่องจากเดิมที่ได้วางแผนไว้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับการท่องเที่ยวนับเป็นจุดเด่นของชาติสมาชิกอาเซียน เพราะแผนแม่แบบการจัดการของเออีซีมุ่งเน้นการขยายระบบการขนส่งภาคพื้นดินและทางอากาศ รวมทั้งขยายความร่วมมือระดับภูมิภาคในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น
นายเดสมอนด์ ซิม หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ถึงแม้จะมีอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการที่อาเซียนจำเป็นต้องก้าวข้ามไปให้ได้ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะยังคงเป็นทำเลที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจจ่างๆ และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิดเออีซีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศในอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”
อุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดอาเซียนนั้นมีด้วยกันหลายประการ ในรายงานของซีบีอาร์อีระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีพื้นที่ค้าปลีกที่มีการบริหารจัดการไม่ดี ซึ่งอาจทำให้ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกมีความผันผวน ส่งผลให้ผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกชะลอหรือยกเลิกการขยายสาขาออกไป และการมีแรงงานที่ความเชี่ยวชาญไม่เพียงพอยังเป็นความท้าทายประการหนึ่งสำหรับตลาดอาคารสำนักงานและตลาดอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง รวมถึงความเชี่ยวชาญของแรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศจะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศตามแผนที่มีการเสนอมีข้อจำกัด
ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งก็คือ การขาดนโยบายด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายการลงทุนเสรีและการเคลื่อนย้ายทุน บ่อยครั้งที่นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์พบข้อจำกัดในเรื่องการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติและเรื่องระยะเวลาการเช่าที่สั้น สภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นให้เกิดการไหลเข้ามาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และปรับปรุงขั้นตอนการพัฒนาโดยรวมในอาเซียน ดังนั้น การทบทวนนโยบายการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติของแต่ละประเทศอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ชาวต่างชาติมีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
หลายฝ่ายที่จับตามองตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมองว่าการไหลเข้ามาของเงินทุนสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องที่ดี การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนทำสถิติเงินทุนไหลเข้าถึงราว 1 ล้านล้านบาท (28.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ระหว่างปี 2548 – 2557 และสำหรับในช่วงห้าปีที่ผ่านมาคือปี 2553 - 2557 จีนขึ้นครองตำแหน่งนักลงทุนอันดับ 1 ในตลาดอาเซียนด้วยสัดส่วนถึง 29% ของปริมาณการลงทุนทั้งหมดในอาเซียน หรือราว 1.59 แสนล้านบาท (4.423 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) รองลงมาเป็นสิงคโปร์ ด้วยเงินลงทุนราว 1.53 แสนล้านบาท (4.268 พันล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ การลงทุนระหว่างประเทศที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอาเซียนนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการกระจายตัวของเงินทุนโลกที่เข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการลงทุนเสรีในอาเซียน ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการลงทุนจากต่างชาติภายในประเทศสมาชิก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลายในอาเซียนทำให้นักลงทุนมีโอกาสทางด้านการลงทุนที่กว้างขึ้น ดังนั้นการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอาเซียนจึงเป็นที่คาดว่าจะมีการเติบโต เนื่องจากนักลงทุนมองหาตลาดทางที่เป็นเลือกสำหรับพอร์ตการลงทุนอสังหาริมทรัพย์” นายเดสมอนด์กล่าวเพิ่มเติม
ประเทศในอาเซียนที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ จัดอันดับโดยธนาคารโลกประจำปี 2558
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.cbre.com