เร่งเดินรถสีน้ำเงิน บอร์ด รฟม.สรุปใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 56
บอร์ด รฟม.เร่งหาเอกชนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เห็นชอบยุติใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เปลี่ยนเป็นปี 56 แทน ชี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ PPP เร่งชงคมนาคม “ผู้ว่าฯ รฟม.” เผยรูปแบบร่วมทุนและวิธีคัดเลือกจะเปิดประมูลหรือเจรจาขึ้นกับ กก.ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พร้อมยอมรับส่งมอบพื้นที่ล่าช้าผู้รับเหมาขอขยายสัญญาสีน้ำเงิน เร่งปรับแผนงาน
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี พล.อ.ยอดยุทธฺ บุญญาธิการ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาความคืบหน้าการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. โดยที่ประชุมมีมติให้ รฟม.ยุติการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน และเห็นควรให้ใช้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุน (แผนยุทธศาสตร์ PPP) โดยจะเร่งสรุปข้อมูลนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการ PPP ตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ รฟม.เสนอขอใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ส่วนรูปแบบการร่วมทุนนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP จะเลือกรูปแบบที่เหมาะสม ระหว่างให้ใช้ PPP-Gross Cost (รัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง โดยรัฐจ่ายค่าจ้างเดินรถ) ตามเดิม หรือเปลี่ยนเป็นรูปแบบ PPP-Net Cost (สัมปทานโดยเอกชนเป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสารและจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ) ซึ่งรูปแบบ PPP-Net Cost จะนำไปสู่การเดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อเนื่องตลอดสาย (Through Operation) ขณะที่วิธีการคัดเลือกระหว่างการประกวดราคาหรือเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL นั้น จะมีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พิจารณาอีกในขั้นตอนต่อไป
นายพีระยุทธกล่าวถึงการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินว่า ยอมรับว่าผู้รับเหมาได้เสนอขอขยายระยะเวลาสัญญาการก่อสร้างออกไป ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า โดยเฉพาะสัญญาที่ 3 (ทางวิ่งยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ) ของกลุ่ม บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ที่ติดปัญหาที่บริเวณสี่แยกท่าพระและสามแยกไฟฉาย โดย รฟม.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายละเอียดต่างๆ เพื่อพิจารณาการขยายระยะเวลาก่อสร้างและค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งเบื้องต้นได้รายงานให้บอร์ดรับทราบแล้ว ซึ่งได้กำชับให้ รฟม.พิสูจน์รายละเอียดอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการปรับแผนงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธานั้นคาดว่าหลังพิจารณาเรื่องการขยายเวลาก่อสร้างและปรับแผนใหม่ และบวกกับระยะเวลาในการจัดหาผู้เดินรถอีก 33 เดือนหรือไม่เกิน 36 เดือน ซึ่งเรื่องเดินรถต้องรอความชัดเจนการขอใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 และข้อสรุปรูปแบบว่าจะประมูลหรือเจรจามาประกอบด้วย โดยยังตั้งเป้าว่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ประมาณปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562
***เห็นชอบ MOU ร่วม กทม.รับเดินรถสายสีเขียวใต้และเหนือ
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด รฟม.ยังได้เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการจัดระบบจราจร (คจร.)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : manager.co.th
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.