"สศอ." คาดอีก5ปีข้างหน้าไทยจะขาดแคลน แรงงาน กว่า1ล้านคน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ แรงงาน ต่างชาติในอุตสาหกรรมไทยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2547 – 2557) ไทยมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 974,143 คน เป็น 1,339,834 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.54 ส่วนหนึ่งมาจาก ค่าจ้างขั้นต่ำของไทย อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 2556 – 2557 ซึ่งมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.18 จากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทที่ประกาศใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน พบว่า ไทยมีค่าจ้าง แรงงาน สูงเป็นอันดับสอง โดยมีค่าจ้างอยู่ที่ 8.8 เหรียญสหรัฐต่อวัน โดยอันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าจ้างอยู่ที่ 32.2-129.9 เหรียญสหรัฐต่อวัน ส่วนประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำสุด คือ เมียนมามีค่าจ้างอยู่ที่ 0.8 - 1.2 เหรียญสหรัฐต่อวัน
นายศิริรุจ กล่าวว่า การที่ไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียน ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก โดยแรงงานสัญชาติลาว เมียนมา กัมพูชา มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 87.89 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด และแรงงานต่างชาติเกินกว่าครึ่งเข้ามาเป็นแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 6,184,926 คน เป็นแรงงานต่างชาติ 771,118 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 11,068 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 760,049 คน
โดยอุตสาหกรรมที่มีแรงงานต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นแรงงานฝ่ายผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ มีแรงงานจำนวน 286,702 คน 105,449 คน และ 65,922 คน ตามลำดับ
ถึงแม้ว่าจะมี แรงงาน ต่างชาติอยู่ในฝ่ายผลิตจำนวนมาก แต่ภาคอุตสาหกรรมของไทยก็ยังคงขาดแรงงานฝ่ายผลิต 34,716 คน และหากไม่นับการจ้างงานต่างชาติ ภาคอุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานงานฝ่ายผลิตประมาณ 794,765 คน อุตสาหกรรมที่มีการขาดแคลนแรงงานการผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
“หากพิจารณาดูจากอายุของ แรงงาน ฝ่ายผลิต จะพบว่าแรงงานฝ่ายผลิตที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ ทำให้ในอนาคต ประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานดังกล่าวเนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 255,888 คน เมื่อรวมกับปัจจุบันที่ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานจำนวน 34,716 คน และมีแนวโน้มที่แรงงานต่างชาติจะย้ายกลับประเทศจำนวน 91,205 คนแล้ว จะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นรวม 381,809 คน ซึ่งหากไม่นับการจ้างงานต่างชาติในระบบ ภาคอุตสาหกรรมไทยจะขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 1,015,938 คน"
ที่มา : matichon.co.th
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.