ข้อที่ 2 ชาวต่างชาติกับมรดกที่ดิน
ชาวต่างชาติหลายคนแต่งงานกับคนไทย และมาตั้งรกรากที่นี่ โดยลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยไว้ร่วมกันเพื่อสำหรับการสร้างครอบครัว ภายใต้ชื่อคู่สมรสชาวไทย ด้วยเหตุนี้ชาวต่างชาติจึงอาจจะรับมรดกซึ่งเป็นที่ดินได้ตามเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนดไว้ดังนี้
- ชาวต่างชาติมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 93 โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีในการได้มาซึ่งที่ดินนั้น แต่เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตามความในมาตรา 87 (ประมวลกฎหมายที่ดิน ปี 2497 หน้า 30) เช่น ที่อยู่อาศัย มีได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ ที่ใช้เพื่ออุตสาหกรรม ไม่เกิน 10 ไร่ ที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม ครอบครัวละไม่เกิน 10 ไร่ ทั้งนี้ เมื่อชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้ได้ที่ดินเพื่อกิจการใด ก็ต้องใช้ที่ดินเพื่อกิจการนั้นเท่านั้น จะใช้เพื่อกิจการอื่นไม่ได้ ตามมาตรา 89 ประมวลกฎหมายที่ดิน หากต้องการใช้เพื่อกิจการใหม่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีก่อนทุกครั้ง
กล่าวคือ ชาวต่างชาติยังสามารถรับมรดกที่ดินในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมได้ตามมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 93 ชาวต่างชาติได้มาซึ่งที่ดินโดยได้รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ได้มาซึ่งที่ดินนั้น แต่เมื่อรวมกับที่มีอยู่แล้วไม่เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตามความในมาตรา 87 ก็ได้”
และนอกจากนี้ ยังตีความรวมไปถึงว่าชาวต่างชาติอาจรับมรดกที่ดินได้ แม้จะเป็นกรณีที่มีคนทำพินัยกรรมยกให้ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีข้อแม้ว่าชาวต่างชาตินั้นต้องเป็นทายาทโดยธรรมของคนที่ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้อยู่ก่อนแล้ว เช่น แม่ของชาวต่างชาติเป็นคนไทย ชาวต่างชาตินั้นจึงเป็นทายาทโดยธรรมของแม่เขา แม้แม่ของเขาจะทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ลูกซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เขาก็ยังถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมอยู่เช่นเดิม - สัญญาซื้อขายซึ่งฝ่าฝืนมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่ามีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150