ขอนแก่นพัฒนาเมือง SMART CITY ที่เอกชนเอาจริง
หลายต่อหลายครั้งที่ TerraBKK ได้เคยนำเสนอบทความและเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง เนื่องจากเรามองว่าการพัฒนาในระดับเมืองนั้น มีนัยยะสำคัญที่จะช่วยให้ภาคส่วนอื่นๆสามารถรุดหน้าได้ ซึ่งในปัจจุบันหลายภาคส่วนก็เริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับเมืองมากขึ้น อย่างเช่น จังหวัดขอนแก่น ที่ได้ขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาเมืองโดย บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Thank – KKTT) อันเป็นผลให้เกิดโมเดลการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองและแนวทางการพัฒนาเมืองในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศไทยตามมา ซึ่งก่อนหน้านี้ TerraBKK ได้เคยนำเสนอประเด็นของ ขอนแก่นพัฒนาเมือง มาแล้วในบทความ โมเดลการพัฒนา “ขอนแก่น” โดยไม่พึ่งพารัฐฯ และ “เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โคราช” จังหวัดศักยภาพเตรียมรับรถไฟฟ้า ซึ่งผ่านเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี จังหวัดของแก่นกลับมาจำนวนก้าวของการพัฒนาได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเราจะพาไปเจาะประเด็นการพัฒนาเมืองของ ขอนแก่นพัฒนาเมือง ให้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเราเห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จังหวัดหัวเมืองอื่นๆในประเทศไทยคงจะเกิดความตื่นตัวและลุกขึ้นมาจับเอา ขอนแก่นโมเดล ไปปรับใช้อย่างแน่นอน
ทำไมต้องขอนก่นพัฒนาเมือง?
จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ ประชากรถึง 1.8 ล้านคน (ปี 2559) มีอัตราการเติบโตของประชากร 2.09% ต่อปี นับเป็นจังหวัดที่มีขนาดประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งด้วยที่ตั้งของจังหวัดขอนแก่นที่อยู่ตรงกลางของภาคอีสาน ทำให้ขอนแก่นมีบทบาทของเมืองเป็นศูนย์ลางการพัฒนาด้านการศึกษา, การแพทย์ และเศรษฐกิจของภาคอีสาน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยดึงดูดให้มีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งตัวเลขอัตราการเติบโตของขอนแก่นนั้นถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจังหวัดหัวเมืองอื่นๆของประเทศ การเติบโตของเมืองที่รวดเร็ว (Rapidly growing city) ทำให้เกิดปัญหาภายในเมืองตามมา เช่น มลพิษ, จราจร, ขนส่งมวลชน, ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางสังคม และช่องว่างของรายได้ประชากร ลำพังเพียงงบประมาณจากภาครัฐที่มักเป็นการกระจายงบแบบรวมศูนย์ ไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาได้
ปี 2556 นักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่น ได้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Thank - KKTT) โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยระดมทุนร่วมกันจำนวน 200 ล้านบาท ก่อตั้ง กองทุนพัฒนาเมือง บริหารเงินกองทุนโดย บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด โดยได้เป็นหัวหอกสำคัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนทางราง (Light Rail Transit system – LRT) ได้รับเงินสนับสนุนในการทำการศึกษาระบบรางที่เหมาะสมโดย สนข. และเกิดเป็นแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดขอนแก่นขึ้นมา จำนวน 5 สาย พาดผ่านพื้นที่ 5 เขตเทศบาล โดยรัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามอนุมัติให้จัดทำสายท่าพระ-สำราญ เป็นเส้นทางแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558
ต่อมาเดือนมีนาคม 2560 กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เพื่อบริการจัดการและจัดเก็บรายได้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ
ขอบคุณภาพจาก : http://www.khonkaenthinktank.com/
ขอนแก่น Smart City
วันที่ 8 มีนาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติแผน “โครงการสมาร์ทซิตี้” จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (ไทยแลนด์ 4.0) โดยการพัฒนา เมืองอัจฉริยะ (Smart City) นั้นไดู้ถูกบรรจุอยู่ใน แผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ โดยเบื้องต้นหนึ่งในตัวชี้วัดในระยะ 5 ปี คือในปี 2561 จะต้องเกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพอย่างน้อย 1 แห่ง ซึ่งแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดที่ภาครัฐได้ดำเนินในขณะนี้คือ จัดประกวดและอบรมการสร้างเมืองแัฉริยะ เพื่อพัฒนาให้เกิดโครงการพัฒนาเมืองฉัจฉริยะต้นแบบอย่างน้อย 10 โครงการ
Smart City มาตรฐานสากลนั้นประกอบไปด้วย 6 สาขา ได้แก่ Smart Mobility, Smart Living, Smart Citizen, Smart Economy, Smart Environment และ Smart Governance หรือหลักๆ ก็คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น และประชากรสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
ขอบคุณภาพจาก : https://smartcity.org.hk/index.php/aboutus/background
ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง (Mobility Drives City)
สำหรับ ขอนแก่นพัฒนาเมือง พวกเขามองว่าการจะพาเมือก้าวไปถึง Smart City นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้อง smart ครบทุกประเด็น พวกเขาได้เลือก Smart Mobility ในการเป็นตัวชูโรงเพื่อเปลี่ยนเมืองสู่ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยอาศัยการพัฒนาที่ต่อยอดมาจากระบบขนส่งมวลขนทางราง LRT นั่นเอง โดย แผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (Transit-Oriented Development : TOD) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเชิงกายภาพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและ traffic การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดระดับสากล แต่ในประเทศไทยยังไม่มี TOD ที่ชัดเจนให้เห็น และขอนแก่นอาจจะเป็นเมืองแรกที่ทำได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นทีเดียว
TerraBKK ขออาสาพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจ TOD และ Smart City (ระยะที่ 1) ของเมืองขอนแ่ก่นในบทความนี้
ผังเมืองรวมเมืองขอนแก่น มีลักษณะของการรวม ศูนย์กลางเมือง (CBD) ไว้ตรงกลาง และกันเขตพื้นที่รอยต่อเมืองรอบนอกด้วยพ้นที่เกษตรกรรมและอนุรักษ์เกษตรกรรม คล้ายแนวคิดผังเมืองแบบ Garden City ที่จะมี พื้นที่สีเขียว (Green Belt) อยู่บริเวณรอยต่อของเมือง เพื่อป้องกันการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง อันจะเป็นผลให้เกิดการรุกพื้นที่สีเขียวในที่สุด ซึ่งเมื่อลักษณะของการวางผังเมืองเป็นแบบนี้ ทำให้การพัฒนามีแนวโน้มที่กระจุกตัวบริเวณกลางเมือง ข้อดีของการพัฒนาแบบนี้ก็คือ สามารถพัฒนาให้เกิด เมืองครบครัน (Compact City) ได้ง่าย อีกทั้งยังไม่ต้องกระจายงบประมาณการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย
สาระสำคัญของการวางผังเมืองรวมในรูปแบบนี้ จะส่งผลต่อ การพัฒนาระบบขนส่มวลชนทางราง และ พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) ซึ่งเราจะอธิบายในย่อหน้าถัดไป
แผนการพัฒนาขนส่งมวลชนทางราง โดยใช้ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ของเมืองขอนแก่นทั้ง 5 สายนั้น ล้วนมีจุด Interchange ศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่ CBD ตามผังเมืองรวม (พาณิชยกรรมสีแดง) ซึ่งมีความเป็นได้สูงเลยว่า การพัฒนาต้องกระจุกตัวตรงศูนย์กลางเมืองอย่างแน่นอน โดยสายแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างสายแรก คือ สายสีแดงเหนือใต้ (สำราญ-ท่าพระ) ที่มีเส้นทางผ่านพื้นที่สำคัญทั้งพาณิชยกรรม, ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก, สถาบันการศึกษา และสถาบันทางราชการ
เนื่องจากการมี Interchange ที่มาบรรจบกันกันรถไฟฟ้ารางเบาทั้ง 5 สายในจุดเดียว ทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่รอบสถานีได้อย่างเต็มที่ การวางแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) ของเมืองขอนแก่น ได้กำหนดไว้ 2 แห่ง ได้แก่ Zone A : ย่านเมืองใหม่ และ Zone B : ย่านฟื้นฟูศูนย์กลางเมือง ดังในภาพ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทั้งจากรถไฟฟ้าและถนน
การวางระบบโครงข่ายขนส่งมวลชนของเมืองขอนแก่น มีการจัดสรร network ของแต่ละ ตัวเลือกการเดินทาง (MODE) ค่อนข้างดีเยี่ยมและชัดเจน โดยได้แบ่งบทบาทของแต่ละโซนรอบด้านของขนส่งมวลชน เพื่อให้เกิดกิจกรรมรอบสถานีรถไฟฟ้า โดยให้สอดคล้องกับเส้นทาง LRT, ซีตี้บัส, ทางเดินเท้า และที่จอดจักรยาน โดยแต่ละจุดให้บริการของแต่ละ MODE นั้น อยู่ในระยะการเดิน 400 เมตร ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานแนวคิดของเมืองแบบ Neighborhood ที่มีโครงข่ายการเข้าถึงที่ดี นอกจากนั้นยังสามารถกระจาย จุดเปลี่ยนถ่าย (NODE) รอบพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ : สมาร์ทอย่างไร?
สำหรับ พื้นที่รอบสถานี (TOD) ของเมืองขอนแก่นนั้น ได้ออกแบบครอบคลุมเส้นทางรถไฟฟ้าครบทั้ง 5 สาย โดยแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่เน้นให้เกิดกิจกรรมในเมือง แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์อาคาร (Building Use) เป็น พาณิชยกรรม, ที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง, สถาบันราชการ, พื้นที่เปลี่ยนถ่ายคมนาคม และพื้นที่สันทนาการ ซึ่งสามารถปรับประยุกต์ให้เกิดธุรกิจและการใช้พื้นที่ได้อย่างหลากหลาย นับว่าน่าสนใจมาก เพราะถ้าหากสำเร็จจริงตามแผนนี้ ขอนแก่นจะเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนและการออกแบบพื้นที่รอบสถานีได้ดีที่สุดในประเทศไทย
และหลังจากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี แน่นอนว่าตรงนี้จะกลายเป็น CBD ของเมืองอย่างเต็มตัว และคงจะไม่คล้ายสีลม-สาทร ซึ่งเป็น CBD ของกรุงเทพฯเท่าไรนัก เนื่องจากสีลมสาทร มีบทบาทค่อนข้างชัดเจนในเรื่องแหล่งงานเพียงอย่างเดียว อีกทั้ง scale ของขนาดประชากรระหว่างกรุงเทพและขอนแก่นยังแตกต่างกันมาก ซึ่งจุดนี้จะทำให้ CBD ของเมืองขอนแก่น จะเป็นที่ที่ประชากรเมืองสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง และเมื่อเกิด traffic มาก การพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็น Smart City จึงตามมา
โครงการคอนแก่นสมาร์ทซิตี้ อาศัยพื้นที่ TOD ในการเป็นจุดติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ โดยเน้นไปที่ Smart Mobility มีโครงการวางแผนแม่บทพัฒนา Smart City Operation Center : SCOPC เพื่อให้เกิดศูนย์กลางของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเมืองขอนแก่นอย่างเป็นรูปธรรม ใช้ระบบ Internet Of Things (IOT) และระบบ Cloud Based เพื่อใช้ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง โดยการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ จะเริ่มต้นจากพื้น ZONE A : ย่านพัฒนาเมืองใหม่ และ ZONE B : ย่านฟื้นฟูศูนย์กลางเมือง
นอกจากประเด็นที่ TerraBKK นำเสนอไปข้างต้นแล้ว สาระสำคัญในแผนแม่บท โครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (ระยะที่ 1) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง จากกลุ่ม ขอนแก่นพัฒนาเมือง และชาวขอนแก่นทุกคน ยังมีประเด็นการพัฒนาที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งล่าสุดโครงการนี้เป็น 1 ใน 7 โครงการ ที่ได้เข้ารอบสุดท้าย ในโครงการสนับสนุน การออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) ที่จัดโดยกระทรวงพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย ซึ่งโครงการอื่นที่เข้ารอบ ก็ยังไม่ใช่การพัฒนาในระดับเมืองเหมือนกับขอนแก่น จึงต้องยอมรับว่า จังหวัดขอนแก่น ได้ก้าวนำจังหวัดอื่นๆในประเทศไทยในด้านการพัฒนาเมืองไปหลายก้าวแล้ว
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารและการพัฒนาของเมืองขอนแก่น สามารถติดตามได้ที่ http://www.khonkaenthinktank.com/ และสามารถรับชม VDO โครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ได้ที่ https://youtu.be/SEonM8vf7ng
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก