สัญญาจ้างก่อสร้าง
สัญญาจ้างก่อสร้างมีหลายรูปแบบ เช่น
สัญญาจ้างแบบที่กำหนดค่าจ้างตามปริมาณของงานก่อสร้างที่ทำ เรียกว่า สัญญาจ้างแบบราคาต่อหน่วย (Unit Cost Contract) ซึ่งคิดราคากันตามปริมาณของวัสดุที่ใช้ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ค่าดำเนินการ กำไร และภาษี เป็นต้น การว่าจ้างลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะผู้ว่าจ้างไม่รู้ว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องชำระราคาทั้งหมดเป็นเงินจำนวนเท่าใด ต้องรอจนกว่างานก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จถึงจะรู้
สัญญาจ้างแบบ (Turn Key) ผู้ว่าจ้างกำหนดเพียงว่าต้องการก่อสร้างอาคารแบบไหน ให้รายละเอียดผู้รับจ้างให้มากที่สุดแล้วก็ตกลงราคากัน ผู้รับจ้างจะเป็นผู้จัดทำแบบก่อสร้าง รายการประกอบแบบ หาวัสดุและแรงงาน ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องดำเนินการใดๆ เมื่ออาคารแล้วเสร็จผู้รับจ้างก็มอบอาคารให้ผู้ว่าจ้าง การจ้างแบบนี้ไม่ได้ใช้กันทั่วไปส่วนใหญ่จะใช้กับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่มีเทคโนโลยีสูง
สัญญาจ้างก่อสร้างแบบจ้างเหมา (Lump Sum Contract) เป็นการจ้างแบบใช้ราคาเหมารวม รวมค่าวัสดุ ค่าแรงงาน ค่าบริหารจัดการ กำไร ภาษี และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นหมดแล้ว การจ้างแบบนี้ผู้ว่าจ้างจะทราบว่าต้องใช้เงินทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใดตั้งแต่เริ่มต้น บางครั้งสัญญาแบบนี้จะเหมาเฉพาะค่าแรง หรือบางสัญญาก็เหมาทุกอย่างแต่ยกเว้นวัสดุบางรายการ สัญญาจ้างก่อสร้างแบบจ้างเหมา (Lump Sum Contract) เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป
สัญญาจ้างก่อสร้างนอกจาก 3 แบบข้างต้นยังมีอีกหลากหลายแบบตามลักษณะของข้อตกลงของการจ้าง ในที่นี้ขอเสนอสัญญาจ้างก่อสร้างแบบจ้างเหมา (Lump Sum Contract)
หลักการร่างสัญญาจ้างก่อสร้างรูปแบบของสัญญาจ้างก่อสร้างนิยมแบ่งสัญญาออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อตกลง (Articles of Agreement) ประกอบด้วย- วันที่และสถานที่ทำสัญญา
วันที่ของสัญญามีไว้เพื่อที่จะบอกว่าสัญญาเกิดขึ้นเมื่อวันที่เท่าใด แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อความในสัญญาจะกำหนดให้สัญญาเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่อื่นไม่ได้ วันที่ทำสัญญากับวันที่เริ่มก่อสร้างอาจเป็นวันเดียวกันหรือต่างกันก็ได้ เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาก็ตามมา
สถานที่ทำสัญญานอกจากเพื่อให้รู้ว่าสัญญาเกิดขึ้นที่ไหน ยังเพื่อให้รู้ว่าเวลาที่มีเหตุจำเป็นต้องฟ้องร้องกันจะฟ้องร้องกันที่ศาลไหนเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
- ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา
- อารัมภบท (Preamble หรือ Recital)
เป็นการแสดงที่มาที่ไปของสัญญาว่าผู้ว่าจ้างมีความประสงค์ที่จะก่อสร้างงานโครงการอะไร และผู้รับจ้างมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับงานที่จ้างอย่างไร ในเรื่องความรู้ความสามารถของผู้รับจ้างสามารถนำไปใช้ในการต่อสู้คดีของผู้ว่าจ้างว่าผู้ว่าจ้างได้เลือกผู้รับจ้างเป็นอย่างดีแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างการทำงาน
- ข้อตกลงจ้าง
จะเขียนไว้ข้อ 1 ของสัญญาว่าคู่สัญญาตกลงกันทำอะไร ข้อตกลงในข้อ 1 ของสัญญาจ้างก่อสร้างมักจะเขียนว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างทำงานตามสัญญานี้ให้ถูกต้องครบถ้วนและแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญานี้” เนื่องจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้างมักจะมีงานอื่นรวมอยู่ด้วยโดยเฉพาะงานระบบ เช่น งานระบบไฟฟ้า งานระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน งานเหล่านี้ไม่ใช่งานก่อสร้างจึงต้องเขียนข้อความให้ครอบคลุมทุกงานโดยใช้คำว่า “ตามสัญญา”
- ค่าจ้าง
ค่าจ้างจะกำหนดโดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เพื่อความชัดเจนว่าผู้ว่าจ้างต้องชำระให้แก่ผู้รับจ้าง โดยมักจะเพิ่มข้อความ “ในกรณีที่มีกฎหมายเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มประกาศใช้บังคับหลังจากวันที่ทำสัญญานี้ ให้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราใหม่ตามกฎหมาย”
- เอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้าง
สัญญาก่อสร้างส่วนใหญ่จะระบุเอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น แบบก่อสร้าง รายการประกอบแบบ บัญชีรายละเอียดของราคาฯลฯ
- การขัดกันของเงื่อนไขทั่วไปกับเงื่อนไขเฉพาะโครงการ
ต้องมีข้อความแสดงความชัดเจนกรณีเกิดการขัดกันของเงื่อนไขในเอกสารกับเงื่อนไขตามสัญญา เช่น “ในกรณีที่เงื่อนไขทั่วไปมีข้อความขัดหรือแย้งกับเงื่อนไขเฉพาะโครงการให้ใช้ข้อความในเงื่อนไขเฉพาะโครงการบังคับ”
- เอกสารแนบท้ายสัญญา
- วิศวกรที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน
- ผู้ควบคุมงาน
- หัวข้อของสัญญา
- คำนิยาม (คำจำกัดความ)
เป็นการจำกัดความหมายของคำให้อยู่ในกรอบตามที่ประสงค์ วิธีการให้คำนิยามมี 2 วิธี คือ การให้ความหมายท้ายข้อความเช่น บริษัท 123 จำกัด (ต่อไปในสัญญานี้เรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง”) กับการให้ความหมายโดยกำหนดอยู่ในข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาเช่น “ข้อ 1.คำนิยาม
“ผู้ว่าจ้าง” หมายถึง.............................
“ผู้รับจ้าง” หมายถึง............................
ฯลฯ
- งานตามสัญญา (Works)
งานตามสัญญา ไม่จำกัดเฉพาะงานก่อสร้าง แต่งานก่อสร้างจะเป็นส่วนหนึ่งของงานตามสัญญา และเป็นส่วนหลักส่วนใหญ่ที่เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของสัญญา
- บัญชีรายละเอียดของราคา (Bill of Quantities)
- คำสั่งของวิศวกรที่ปรึกษา
กำหนดบทบาทหน้าที่ของวิศวกรที่ปรึกษา การออกคำสั่งแทนผู้ว่าจ้างภายในกรอบของสัญญาที่กำหนดไว้
- การเปลี่ยนแปลงงาน และการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเหมา
เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ทำสัญญากันแล้วและมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง
- หน้าที่ตามกฎหมายของผู้รับจ้าง
- ความรับผิดต่อความเสียหายและการประกันภัย
นิยมคิดเบี้ยประกันเข้าไปในรายละเอียดของราคา ซึ่งมีผลเท่ากับผู้ว่าจ้างเป็นผู้ทำประกัน กรณีความเสียหายที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครอง ผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิด
- การโอนงานและการจ้างช่วง
- ค่าจ้างคนงานและค่าจ้างผู้รับจ้างช่วง
มักจะกำหนดให้ผู้ว่าจ้างสามารถหักเงินค่าจ้างของผู้รับจ้างไปจ่ายให้แก่คนงานและผู้รับจ้างช่วงได้ เพื่อลดปัญหาการค้างค่าจ้างคนงานของผู้รับจ้างและขจัดปัญหาความล่าช้าของการก่อสร้าง
- วัตถุโบราณ ซากสัตว์ ฯลฯ
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551และ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ให้รัฐนำไปเป็นสมบัติของชาติหากไม่ดำเนินการให้ถูกต้องอาจมีโทษทางอาญาตามมา
- ทรัพย์สินทางปัญญา
- การประสานงาน
- การขยายระยะเวลาก่อสร้าง
กรณีที่ไม่ใช่สาเหตุเกิดจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานของวิศวกรที่ปรึกษา การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า อย่างเช่น กรณีเหตุสุดวิสัย
- เงินประกันผลงาน
จะเก็บไว้จนกว่างานจะแล้วเสร็จตามสัญญา การคืนเงินประกันผลงาน ผู้รับจ้างต้องนำหนังสือค้ำประกันผลงานมาวางแทน
- ค่าจ้างล่วงหน้า
- การจ่ายค่าจ้าง
โดยทั่วไปจ่ายเป็นรายงวดตามผลงานที่ทำได้
- การแล้วเสร็จของงาน
คู่สัญญาสามารถกำหนดค่าปรับงานล่าช้าไว้ในส่วนนี้ได้
- การระงับข้อพิพาทงานก่อสร้าง
คู่สัญญาสามารถกำหนดขั้นตอนการระงับข้อพิพาทได้ โดยอาจจะใช้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อนหรือจะใช้กระบวนการทางศาลเลยก็ได้
- เขตอำนาจศาล
ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องเขตอำนาจศาล กรณีที่คู่สัญญาระบุศาลชั้นต้นไว้ต้องเป็นไปตาม มาตรา 7(4) แห่งกฎหมายนี้เช่นกัน
- การเลิกสัญญา
ต้องกำหนดเหตุในการเลิกสัญญาทั้งของฝ่ายผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง รวมทั้งต้องกำหนดผลภายหลังการเลิกสัญญาให้ชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายมีสิทธิประการใดบ้าง เช่น ผู้รับจ้างปฏิบัติงานไม่ได้มาตรฐานผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เป็นต้น ข้อสัญญาอื่นๆ (ถ้ามี)
นิยมแบ่งออกเป็น 3 หมวดดังนี้
- เอกสารภาคผนวก 1 : รายละเอียดของเงื่อนไขแห่งสัญญา มีไว้เพื่อความสะดวกในการทำสัญญา
- เอกสารภาคผนวก 2 : หน้าที่ในการประสานงาน
- เอกสารภาคผนวก 3 : รายการเอกสารการก่อสร้าง