1. ผู้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนอาคารชุด ตามกฎหมายอาคารชุด

ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่อาคารชุดนั้นตั้งอยู่และเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดนั้น ๆ ด้วย

2. หลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมคำขอจดทะเบียนอาคารชุด มีดังนี้
  • หลักฐานแสดงตัวผู้ยื่นคำขอ
กรณีบุคคลธรรมดา ได้แก่

(1) บัตรประจำตัวประชาชน

(2) ทะเบียนบ้าน

กรณีบริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วน ได้แก่

(1) หนังสือรับรองการจดทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

(2) หนังสือบริคณฑ์สนธิ

(3) บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น

(4) รายงานการประชุมกรรมการบริษัท

(5) ใบทะเบียนการค้า

(6) การจดทะเบียนการค้าสรรพากร

(7) บัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของกรรมการบริษัท

  • โฉนดที่ดิน
  • แผนผังแสดงเขตที่ดินและที่ตั้งอาคารชุดและสิ่งปลูกสร้าง มาตราส่วน 1:500 หรือ 1:1000
  • แผนผังแสดงรายละเอียดของอาคารชุดแต่ละชั้น โดยระบุ ความกว้าง ความยาว ความสูง และเนื้อที่และ/หรือแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  • แผนผังแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนบุคคล และ/หรือแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  • แผนผังแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง และ/หรือแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
  • รายการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนบุคคล
  • รายการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง
  • หมายเลขประจำห้องชุดแต่ละห้องชุด
  • บัญชีแสดงอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง หรือราคาขายแต่ละห้อง (อ.ช.5)
  • ใบอนุญาตให้ก่อสร้าง (อ.1)หรือใบรับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ (พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522)
  • ใบรับรองการก่อสร้างอาคาร (อ.6) หรือใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร (อ.5) (พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522)
  • หนังสืออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศหรือตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหารในกรณี ที่อาคารที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด ตั้งอยู่ภายในเขตดังกล่าว
  • คำรับรองว่า อาคารที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดนั้นปราศจากภาระผูกพันใด ๆ เว้นแต่ การจำนองอาคารรวมกับที่ดิน
  • ร่างข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด
  • หลักฐานความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการของเอกชนซึ่งเป็นอาคารอยู่อาศัยรวม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีจำนวนห้องพักอาศัยตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไปที่อยู่ในเขตท้องที่ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือกรณีโครงการที่อยู่นอกเขตท้องที่ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้เสนอรายงานฯในขั้นขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารโดยยื่นขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือกรณีโครงการที่อยู่นอกเขตท้องที่
3. ในการขายห้องชุด ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคาร (เจ้าของโครงการ) จะต้องดำเนินการ ดังนี้
  • ต้องเก็บสำเนาข้อความ หรือภาพที่โฆษณา หรือหนังสือชักชวนที่นำออกโฆษณาไว้ จนกว่าจะขายหมด และต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดจัดเก็บไว้อย่างน้อย หนึ่งชุด
  • ข้อความหรือภาพที่โฆษณาจะต้องตรงกับหลักฐานและรายละเอียด ข้อ 2. ที่ยื่นพร้อมคำขอจด ทะเบียน และต้องระบุทรัพย์สินส่วนกลางให้ชัดเจน
  • ข้อความหรือภาพโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายห้องชุด หากข้อความหรือภาพมีความหมายขัดหรือแย้งกับข้อความในสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาซื้อขายห้องชุด ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้จะซื้อหรือผู้ซื้อห้องชุด
  • สัญญาซื้อขายห้องชุดระหว่างเจ้าของโครงการกับผู้ซื้อห้องชุดจะต้องทำตามแบบ สัญญาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเท่านั้น
4. เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง ?
  • เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลที่เป็นของตน ได้แก่ ตัวห้องชุดแต่ละห้องชุด และสิ่งปลูกสร้างที่จัดไว้ให้ เช่น จอดรถส่วนตัว และที่ดินที่จัดไว้ให้ เช่น สวนหย่อม และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารชุด ฐานราก เสาเข็ม ดาดฟ้า และที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬาส่วนรวม และทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟท์ บันได เครื่องปั๊มน้ำ หรือถังเก็บน้ำ
  • พื้นห้อง ผนังกั้นห้องที่แบ่งระหว่างห้องชุดแต่ละห้อง ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของร่วมระหว่างเจ้าของห้องชุดที่มีพื้นห้องและผนังกั้นห้องร่วมกันอยู่
  • ข้อจำกัดการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล คือการใช้สิทธิหรือใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลนั้นจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อโครงสร้าง ความมั่นคง หรือการป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคาร

ตัวอย่างหนังสือกรรมสิทธิห้องชุด

คลิ๊กที่รูปเพื่อขยาย

5. อัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางคืออะไร ?

เมื่อจดทะเบียนเป็นอาคารชุดแล้ว อาคารชุดนั้นจะมีทรัพย์สองส่วน โดยเจ้าของห้องชุดแต่ละห้องชุดจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง

จึงจำเป็นต้องระบุอัตราส่วนความเป็นเจ้าของทรัพย์ส่วนกลางไว้ให้แน่ชัด ตามอัตราส่วนระหว่างเนื้อที่ของห้องชุดแต่ละห้องชุดกับเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้น เพราะเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกอาคารชุด เจ้าหน้าที่ที่ดินจะต้องจดแจ้งให้เจ้าของร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดนั้นตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง

6. การประกอบการค้าในอาคารชุด

ในกรณีที่มีการจัดพื้นที่ของอาคารชุดเพื่อประกอบการค้า ต้องจัดระบบการเข้าออกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ไม่ให้รบกวนความเป็นอยู่โดยปกติสุขของเจ้าของร่วม และห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการค้าในอาคารชุด เว้นแต่เป็นการประกอบการค้าในพื้นที่ของอาคารชุดที่จัดไว้

7. ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดต้องช่วยกันออก 5 ชนิด ดังนี้
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบริการ เช่น การจัดเก็บขยะมูลฝอย ค่าไฟฟ้าส่วนที่ให้ความสว่างแก่ตัวอาคารชุด (นอกห้องชุด ค่าจ้างยามรักษาความปลอดภัย ค่าจ้างดูแลรักษาความสะอาด
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ ค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ในห้องรับรอง [Lobby] ค่าเครื่องมือที่ใช้ในการทำความสะอาดทรัพย์ส่วนกลาง
  • ค่าภาษีอากร หมายถึง เฉพาะภาษีอากรที่ต้องจ่ายในนามของอาคารชุดและเกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ ค่าจ้างซ่อมแซมทรัพย์ส่วนกลาง เช่น ค่าซ่อมไฟฟ้า ค่าซ่อมเครื่องปั๊มน้ำ
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง เช่น เงินเดือนผู้จัดการ เสมียน พนักงาน เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสำนักงานนิติบุคคลอาคารชุด

ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของห้องชุดแต่ละห้องจะต้องชำระนี้ ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด และถ้าไม่ชำระผลก็คือ นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ์เหนือทรัพย์ต่าง ๆ ของเจ้าของห้องชุด

ในกรณีที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคาร (เจ้าของโครงการ) เป็นเจ้าของร่วมในห้องชุดที่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคลใดบุคคล หนึ่ง จะต้องร่วมออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นด้วย

8. เจ้าของร่วมจะต้องชำระเงินให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดำเนินกิจการของนิติบุคคลอาคารชุด ดังต่อไปนี้
  • เงินค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลอาคารชุดที่เจ้าของแต่ละห้องชุดจะต้องชำระล่วงหน้า
  • เงินทุนเมื่อเริ่มต้นกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อบังคับ หรือตามมติของที่ประชุมใหญ่
  • เงินอื่นเพื่อปฏิบัติตามมติของที่ประชุมใหญ่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนด
9. ผลของการไม่ชำระเงินค่าใช้จ่าย
  • ในกรณีที่เจ้าของร่วมไม่ชำระเงินค่าใช้จ่ายภายในเวลาที่กำหนดต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละสิบสองต่อปีของจำนวนเงินที่ค้างชำระโดยไม่คิดทบต้น
  • หากเจ้าของร่วมค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปีและอาจถูกระงับการใช้บริการส่วนรวม รวมทั้งไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่
10.หน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุด มีดังนี้
  • จัดทำงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบสิบสองเดือน โดยให้ถือว่าเป็นรอบปีในทางบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น นำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
  • จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมพร้อมกับการเสนองบดุล และให้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่เจ้าของร่วมก่อนวันนัดประชุมล่วงหน้าไม่ น้อยกว่า 7 วัน
  • เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานและงบดุลพร้อมทั้งข้อบังคับไว้ไม่น้อยกว่าสิบปีนับแต่วันที่ได้รับ อนุมัติจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม
11. การออกใบแทนหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่เจ้าของห้องชุด คือ
  • หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูญหาย และหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำรุด
  • กรณี ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ห้องชุดแล้ว แต่ผู้ยื่นคำขอไม่สามารถนำหนังสือมาดำเนินการตามคำ พิพากษาได้ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนได้
  • กรณี คนต่างด้าวได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดมาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งจำหน่ายห้องชุดของคนต่างด้าวนั้นได้ แต่ไม่สามารถได้มาซึ่งหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนได้
12. เอกสารที่ต้องนำไปเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด มีดังนี้
  • หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
  • กรณี เป็นการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ผู้ขอต้องนำหนังสือรับรองจากผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดงว่ามิได้เป็นหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง
13. การประชุมใหญ่
  • ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล
  • ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้งภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของนิติบุคคลอาคารชุด
  • ในกรณีมีเหตุจำเป็น ผู้จัดการ หรือคณะกรรมการนิติบุคคล หรือเจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบคะแนนเสียงเจ้าของร่วมมีสิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้
  • การเรียกประชุมใหญ่ ต้องทำเป็นหนังสือนัดประชุม ระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม
  • องค์ประชุม การประชุมใหญ่ต้องมีผู้มาประชุมซึ่งมีคะแนนเสียงรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด
  • มติของที่ประชุมใหญ่ ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้า
  • คะแนนเสียง ให้เจ้าของร่วมแต่ละรายมีคะแนนเสียงเท่ากับอัตราส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง
  • การให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทน เจ้าของร่วมอาจมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนได้ แต่เกินสามห้องชุดมิได้ ทั้งนี้ กรรมการ, ผู้จัดการ, พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคล และคู่สมรสของบุคคลเหล่านี้ จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงแทนเจ้าของร่วมมิได้
14. มติของที่ประชุมใหญ่
  • มติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1/2 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด

(1) การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือการรับให้อสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าภาระผูกพันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง

(2) การจำหน่ายทรัพ์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์

(3) การ อนุญาตให้เจ้าของร่วมทำการก่อสร้าง ตกแต่ง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติมห้องชุดของตนเองที่มีผลกระทบต่อทรัพย์ส่วนกลางหรือลักษณะภายนอก ของอาคารชุดโดยค่าใช้จ่ายของผู้นั้นเอง

(4) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ หรือการจัดการทรัพย์ส่วนกลาง

(5) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันในข้อบังคับ

(6) การก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง

(7) การจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์ส่วนกลาง

  • มติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 1/4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด

(1) การแต่งตั้ง หรือถอดถอนผู้จัดการ

(2) การกำหนดกิจการที่ผู้จัดการมีอำนาจมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทน

15. "บทกำหนดโทษ”
  • ในกรณี เจ้าของโครงการทำการโฆษณาขายห้องชุดต้องเก็บสำเนาข้อความหรือภาพที่โฆษณาไว้จนกว่าจะขายห้องชุดหมดและต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • โฆษณาขายห้องชุด ส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน แผนผังอาคารชุดรวมทั้งเส้นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ทรัพย์ส่วนกลาง จะต้องตรงกับรายละเอียดที่ยื่นพร้อมคำขอจดทะเบียน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 100,000บาท
  • สัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุดระหว่างผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและ อาคาร (เจ้าของโครงการ) กับผู้จะซื้อหรือผู้ซื้อห้องชุดต้องทำตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • การจัดพื้นที่เพื่อประกอบการค้า ต้องจัดระบบการเข้าออกเป็นการเฉพาะไม่ให้รบกวนความเป็นอยู่ ของเจ้าของร่วม หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาท
  • กรณีดังต่อไปนี้ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่มีเหตุ หากไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท

- คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวซึ่งจะต้องจำหน่ายห้องชุดของตน

- คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวได้มาซึ่งห้องชุดโดย ได้รับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรม แล้วแต่กรณี

- การได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดในขณะที่มีสัญชาติไทย หากเสียสัญชาติไทย เพราะสละสัญชาติไทย การแปลงสัญชาติ หรือถูกถอนสัญชาติ แต่มิได้เป็นคนต่างด้าวตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 หากประสงค์จะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดต่อไป ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบพร้อมแสดงหลักฐานภายใน 180 วัน

  • นิติบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยและมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดอยู่แล้ว ถ้าต่อมากฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว และเป็นนิติบุคคล หาก ประสงค์จะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดต่อไปต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบพร้อมหลักฐานว่าเป็นนิติบุคคลภายใน 180 วัน
  • บุคคลใดถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดในฐานะเป็นเจ้าของแทนคนต่างด้าว ไม่ว่าคนต่างด้าวจะมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่เจ้าของร่วมภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอและเจ้าของร่วมได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 500 บาท
  • ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ มิฉะนั้นจะมีโทษปรับ 5,000 บาท ในกรณีต่างๆ ดังนี้

- ไม่นำมติแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียน

- ไม่นำหลักฐาน หรือสัญญาจ้างไปจดทะเบียน

- ไม่นำมติแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียน

- ไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด

  • ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และไม่ติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนและไม่ติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่องกัน ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 500 บาท
  • ประธานคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่เรียกประชุมคณะกรรมการภายใน 7 วัน เมื่อกรรมการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร้องขอ หรือไม่เรียกประชุมคณะกรรมการหนึ่งครั้งในทุกหกเดือนเป็นอย่างน้อย ปรับประธานกรรมกรไม่เกิน 5,000 บาท
  • นิติบุคคลอาคารชุด หากละเลยสิ่งต่อไปนี้ จะถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท ผู้จัดการนิติบุคคลต้องรับโทษปรับด้วย

- ไม่จัดทำงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบสิบสองเดือน

- ไม่จัดให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองงบดุล

- ไม่จัดทำรายงานประจำปี และไม่นำส่งสำเนารายงานประจำปี

  • เจ้าของร่วมดำเนินการก่อสร้าง ตกแต่ง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติมห้องชุดของตน โดยมิได้รับมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในที่ดินและอาคารชุดที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด ไม่มาตามหนังสือเรียก ไม่ ชี้แจง ไม่จัดส่งเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่เรียก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รายละเอียดทั้งหมด ดาวน์โหลด Click ที่มา : กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย www.dol.go.th บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก